ซากานซาร์…เทศกาลปีใหม่ของชาวมองโกล 28 ธันวาคม 2019 – Posted in: People & Places

ปีใหม่ของชาวมองโกลคือช่วงเวลาแห่งการรวมญาติ การเยี่ยมเยียนผู้อาวุโส การใช้เวลาอันอบอุ่นท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นที่สุดของปี และการกินมาราธอนที่ทุกคนจะต้องเผื่อท้องไว้กินให้ครบทุกบ้าน

ในฤดูหนาวอันทารุณของดินแดนที่มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทุ่งโล่ง ชาวมองโกลกระชับความอบอุ่นด้วยการเข้าใกล้กันมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมในช่วงเทศกาล “ซากานซาร์” หรือเทศกาลปีใหม่ของมองโกเลีย ซึ่งมักจะฉลองกันในเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ ตามปฏิทินจันทรคติ หรืออยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับเทศกาลตรุษจีนนั่นเอง

Photo cr. : newmilestonetours.com

แน่นอนว่าหัวใจสำคัญของการเฉลิมฉลองคือบรรยากาศการสังสรรค์ที่ทำให้อิ่มพุงและอิ่มใจ การหัวเราะหัวใคร่ แสดงความรัก ความขอบคุณ ต่อญาติสนิทมิตรสหาย ซึ่งจะโปรยปรายความสุขและความมีสิริมงคลให้กับการเริ่มต้นปี ในเทศกาลดี ๆ เช่นนี้จึงหนีไม่พ้นเรื่องการเตรียมสถานที่และอาหาร ซึ่งเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าปีใหม่ของชาวมองโกลนั้นก็มีอาหารเฉพาะเจาะจง เรียกได้ว่าเป็นธรรมเนียมของการขึ้นปีใหม่ทีเดียว

โอ๊กน่า  แรมเซย์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Mongol” ซึ่งเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขมองโกลแท้ โดยสำนักพิมพ์สันสกฤตนำมาแปลไทยในชื่อ “มองโกล” นั้น ได้บอกเล่าถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวมองโกลไว้ได้อย่างถึงแก่น หนึ่งในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ประเพณี คือการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ซึ่งมีเกร็ดที่น่าสนใจหลายอย่าง

การเตรียมอาหาร

“ในมองโกเลีย เราจะกินโบ๊ตช์ ยามมีเรื่องต้องฉลอง”

โอ๊กน่า  แรมเซย์ เล่าว่า ก่อนปีใหม่นั้นแม่ของเธอจะต้องเตรียมอาหารมากมาย อย่างแรกคือโบ๊ตซ์ ซึ่งเป็นเกี๊ยวกลมๆ ห่อด้วยแป้งบาง ๆ ข้างในมีไส้ทำจากเนื้อแกะ เนื้อแพะ หรือเนื้อม้าที่คลุกเคล้ากับหอมกระเทียมแล้วนำไปนึ่ง นอกจากแป้งบาง ๆ แล้ว แป้งพายก็ใช้ด้วยเหมือนกัน ที่บ้านของเธอจะทำโบ๊ตซ์ครั้งละไม่ต่ำกว่า 3,000 ตัว จนญาติๆ ต้องมาช่วยกันห่อเกี๊ยว กลายเป็นกิจกรรมรวมมิตรที่เริ่มสนุกกันตั้งแต่ก่อนขึ้นปีใหม่ ดังที่โอ๊กน่า  แรมเซย์ พูดถึงในเนื้อหาตอนหนึ่งว่า

เกี๊ยวห่อ อาหารยอดนิยมของชาวมองโกล ภาพจาก worldvision.org , adamantkitchen.com

“บ้านเราทำเกี๊ยวทีละสามพันกว่าตัว ข่าวจะแพร่กระจายไปว่า บ้านเราจะทำเกี๊ยววันไหน พวกญาติ ๆ พี่น้องและเพื่อนๆ จะมาช่วยกันคนละไม้ คนละมือ ทุกคนจะมีหน้าที่ต่าง ๆ กัน บ้างก็แผ่แผ่นแป้งด้วยลูกกลิ้ง บางคนห่อไส้เนื้อสับ และด้วยเหตุผลที่ฉันอายุน้อยกว่าเพื่อนจึงมีหน้าที่แผ่แป้ง จากนั้นเราจะมาชิมเกี๊ยวกับก๋วยเตี๋ยวน้ำเนื้อแพะกัน เป็นการสังสรรค์อย่างมีความสุข เรานั่งคุยกันเรื่องสัพเพเหระ บรรยากาศครึกครื้น มีการเล่าเรื่องตลกสู่กันฟัง เรื่องภาพยนตร์ที่ดู หรือหนังสือที่อ่าน และมักจะลงเอยด้วยข่าวซุบซิบ”

สโคนและขนมทอดที่รับประทานในช่วงปีใหมของชาวมองโกล ภาพจาก montsame.mn

จากนั้นก็เป็นการอบพวกบิสกิตหรือสโคนรูปสี่เหลี่ยมปลายมน คล้ายแผ่นรองเท้า ซึ่งขนมเหล่านี้จะนำมาวางเรียงซ้อนๆ กันอย่างสวยงามเป็นระเบียบ แล้ววางขนมและเต้าหู้แข็ง(ชาวมองโกลเรียกว่า อาโรล)ไว้บนสุด ซึ่งว่ากันว่าการเรียงสโคนนี้สามารถทำนายความเป็นไปของปีหน้า เพราะฉะนั้นในแต่ละกีร์หรือกลางกระโจมแต่ละหลังจะต้องมีกองสโคนตั้งอยู่เป็นส่วนหนึ่งของอาหารปีใหม่

“เราทำสโคนเจ็ดสิบลูกและทิ้งไว้ข้ามคืนเพื่อให้แป้งอยู่ตัว เช้าวันรุ่งขึ้นงานของเราคือการผ่าฟืนที่จะใช้ ให้บางและได้ขนาดพอเหมาะ แม่เป็นหัวเรือใหญ่ในการทอดขนมให้ได้ขนาดใกล้เคียงกันหมด ซึ่งต้องแบนและไม่แตกร่วน…เทคนิคหนึ่งที่เราได้เรียนรู้คือการเช็ดสโคนด้วยผ้าขนหนูเปียก ก่อนหย่อนลงไปในน้ำมันร้อน ๆ แป้งจะกรอบและมีผิวเรียบสวย”

หลังแกะย่างเป็นตัวมีหางติดอยู่ ถือเป็นอาหารที่พิเศษมาก ภาพจาก discovermongolia.mn

แล้วขั้นตอนสุดท้ายก็คือการจัดวางเนื้อไว้ข้าง ๆ กองสโคน ซึ่งปกติจะเรียงไว้บนหนังแกะที่มีหางติดอยู่ โดยหางจะนำมาย่างหรือนึ่งไม่ให้หางบิดเบี้ยว หางที่ใหญ่และอ้วนยิ่งดี ส่วนหางจะทำล่วงหน้าก่อนวันปีใหม่หลายวันเพื่อฉลองวันสำคัญ นี่คือธรรมเนียมของชาวมองโกล แต่สำหรับชาวเราอาจจะรู้สึกแปลก ๆ ที่มีหลังแกะย่างเป็นตัววางอยู่กลางวง และยังเป็นอาหารหลักที่จะขาดเสียมิได้ ในเทศกาลขึ้นปีใหม่ของชาวมองโกล

เริ่มต้นปีใหม่อย่างมีมงคล

การตื่นแต่เช้ารับวันปีใหม่ เป็นธรรมเนียมสำคัญของชาวมองโกล คล้ายการเอาฤกษ์เอาชัย โดยปกติแล้วชาวมองโกลจะดื่มชาร้อนอยู่เป็นประจำ แต่ชาถ้วยแรกของวันปีใหม่ คงจะเผื่อแผ่ให้สิ่งที่มองไม่เห็นโดยรอบ โอ๊กน่าไล่เรียงชีวิตวัยเยาว์ของเธอในตอนหนึ่งว่า

“แม่จะชงน้ำชาถ้วยแรกรับปีใหม่ และจะพรมบางส่วนออกไปข้างนอกให้ครบแปดทิศ แม่จะอธิษฐานโดยวางมือหนึ่งแตะหน้าอก อีกมือหนึ่งจับทัพพีใหม่ตักน้ำชาสาดออกไป”

Photo cr. : bookbridge.org

จากนั้น สมาชิกทุกคนในบ้านก็จะเตรียมพร้อมต้อนรับแขกเหรื่อโดยการสวมเสื้อผ้าใหม่ที่งดงาม แต่ละครอบครัวจะเดินทางไปเยี่ยมญาติ โดยเริ่มจากบ้านผู้อาวุโสที่สุด ซึ่งมีการทักทายตามธรรมเนียม

“เราทักทายญาติพี่น้องตามทำเนียมมองโกเลียโดยใช้ทั้งสองมือ ผู้อาวุโสกว่าจะยื่นแขนคว่ำฝ่ามือใส่บนฝ่ามือหงายที่ยื่นออกมารับ ของผู้อ่อนวัยกว่าแล้วกล่าวอวยพรให้กัน…ทุกคนจะอวยพรให้แก่กันยกเว้นสามี ภรรยา

ส่วนคำอวยพรที่จะบอกกล่าวแก่กันในช่วงเทศกาลนี้มักจะเป็นคำที่มีความหมายดี ๆ ตัวอย่างเช่น
“อามาร์ แซงเบโน ซาร์ชินเด๋ แซฮัง ชินิช แบโน” (สวัสดี สบายดีนะ มีความสุขปีใหม่ ดีไหม)
“มินเด๋ ถาแซฮัง ชินนิช แบโน” (สวัสดี ขอให้มีความสุขในวันปีใหม่)

การแลกขวดยานัตถุกันในวันปีใหม่ ภาพจาก kuaibao.qq.com

ตามประเพณีผู้ชายจะแลกเปลี่ยนขวดยานัตถุกัน ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพ และจะส่งวนไปให้พวกผู้หญิงและเด็กๆ เราจะสูดดมยานัตถุที่เปิดไว้ครึ่งฝาแล้วส่งคืนให้เจ้าของขวด”

“มีธรรมเนียมปฏิบัติและข้อห้ามหลายอย่างในเทศกาลปีใหม่ที่ไม่ได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อทุกคนอวยพรเสร็จก็จะนั่งลงและจะได้รับแจกแก้วชานมเกลือหรือเนยนิดหน่อยหรือครีม แล้วจานใส่เกี๊ยวนึ่งก็จะถูกลำเลียงมาเสิร์ฟให้แขก บางบ้านจะทำสลัดมันฝรั่งด้วย…แขกที่ถือเป็นคนสำคัญโดยเฉพาะผู้ใหญ่จะได้รับอาหารที่มีมันมากหน่อย เพราะถือเป็นของที่ดีที่สุด”

Photo cr. : tripmongol.com

ตลอดทั้งวันและทุกๆ วันในเทศกาลซากานซาร์ จะเป็นเวลาของการเยี่ยมญาติ ดื่มกิน เฉลิมฉลอง โดยสลับไปกินอาหารและดื่มเครื่องดื่มแบบเดียวกันในแต่ละกีร์ ส่วนเด็ก ๆ ก็จะวิ่งเล่นเข้าไปขอขนมยังกีร์ทุกหลังตั้งแต่กลางวันยังค่ำมืด ถ้าบ้านไหนมีขนมแจกเยอะหน่อยก็คงไม่แคล้วที่จะมีเด็กตัวน้อย ๆ แวะเวียนไปหาอย่างไม่ขาดสายแน่นอน

ซากานซาร์จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ที่เปิดโอกาสให้ครอบครัวขยายได้สังสรรค์ และแสดงออกถึงความรัก ความเอื้ออาทร แต่จะอยู่ในช่วงที่หนาวที่สุดของปี แต่ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าความมิตรภาพและความผูกพันระหว่างญาติสนิทมิตรสหาย จะเป็นดุจดังกองไฟที่จุดไว้กลางกระโจมที่คลายความหนาวเหน็บในเบื้องลึกของหัวใจ

 “คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตเหมือนลูกเกด ที่อยู่ในขนมเค้กของขนบธรรมเนียม”

ข้อความของแบรนด์  บลันชาร์ดที่ยกมาไว้ในตอนหนึ่งของหนังสือน่าจะเป็นคำกล่าวที่ครอบคลุมเรื่องราวชองชีวิตชาวมองโกลที่น่าสนใจอย่างยิ่ง อ่านชีวิตจริงของชาวมองโกลได้ในหนังสือ “MONGOL – มองโกล” ที่ถ่ายทอดชีวิตจิตใจของชาวมองโกล คลิกที่นี่

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ คลิกที่นี่

https://www.sanskritbook.com/category/story/

ไม่รัก…ปักไม่ได้

อุ้มหายไปในโสมแดง

ชีเฆห์…ประเพณีรัญจวน

 

« Birthday Diary ทายนิสัยคนเกิดเดือนมกราคม
ไม่รัก…ปักไม่ได้ »