เมื่อลูกสาวถูกพ่อฆ่าเพื่อรักษาเกียรติ? 4 มิถุนายน 2020 – Posted in: People & Places

แฮชแท็ก #Romina_Ashrifa คือกระบอกเสียงเล็กๆ ที่เรียกร้องความยุติธรรมให้กับสาวน้อยชาวอิหร่านซึ่งถูกพ่อบังเกิดเกล้าฆ่าตัดคอ นับเป็นการเคลื่อนไหวล่าสุดในโลกออนไลน์ที่บอกเราว่า “การฆ่าเพื่อรักษาเกียรติ” ไม่เคยหายไปจากโลกนี้ แต่เพราะเหตุใด การกระทำอันป่าเถื่อนจากน้ำมือคนในครอบครัว จึงยังไม่หมดสิ้นไปจากสังคม

ด.ญ.โรมินา และแฟนหนุ่มที่มีส่วนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้ (Image cr. : meramirpur.com)

ด.ญ.โรมีนา  อัชราฟี อายุ 13-14 ปี เป็นสาวน้อยที่มีใบหน้างดงาม ความจริงแล้วเธอน่าจะมีอนาคตที่สดใส หากไม่ไปตกหลุมรักกับแฟนหนุ่มชื่อบาห์มาน อายุ 28 ปี(บางสื่อว่าอายุ 34 ปี) ที่อยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียง ทั้งคู่คบหากันมา 2 ปี ด้วยความที่นับถือศาสนาอิสลามต่างนิกาย ครอบครัวของโรมินานับถือนิกายชีอะห์ ส่วนครอบครัวของบาห์มานนับถือนิกายซุนนี โรมินาคิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่พ่อของเธอจะอนุญาตให้แต่งงานกัน แต่ชายหนุ่มเห็นว่าไม่เหมาะที่จะหนีไปอยู่ด้วยกันเฉยๆ จึงจัดพิธีสู่ขอตามธรรมเนียม แล้วก็เป็นไปตามคาดคือพ่อไม่อนุญาต หญิงสาวและชายหนุ่มจึงตัดสินใจหนีไปอยู่ด้วยกัน ครอบครัวของทั้งสองฝ่ายจึงเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่

เพียง 5 วันที่ได้ครองคู่กันแบบหลบๆ ซ่อนๆ ในที่สุดตำรวจตามหาจนพบและยืนกรานว่าต้องส่งเธอกลับบ้าน แม้โรมินาจะบอกว่าถ้าส่งกลับบ้านเธอต้องถูกฆ่าอย่างแน่นอน แต่ตำรวจก็ไม่อาจทำตามคำขอร้องของเธอ เนื่องจากการส่งเด็กหญิงกลับไปยังครอบครัวเป็นไปตามข้อกำหนดในกฎหมายของรัฐอิสลาม

เมื่อโรมินากลับถึงบ้าน พ่อก็พยายามโน้มน้าวให้เธอปลิดชีพตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อยาเบื่อหนูมาให้กิน หรือบอกให้เธอแขวนคอ แต่โรมินาไม่ยอมทำ

จนกระทั่งวันที่ 21 พฤษภาคม 2563…

ขณะที่โรมินากำลังนอนหลับอยู่ในห้องกับน้องชายวัย 6 ขวบ แม่ถูกล็อคอยู่ในห้องซักล้าง เธอรู้แล้วว่าจะต้องมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นกับลูกสาวแน่นอน แล้วก็เป็นดังนั้น พ่อของโรมินาเดินถือเคียวย่องเงียบไปบั่นคอลูกสาวจนสิ้นชีพ

จากนั้น นายเรซา  อัชราฟี พ่อบังเกิดเกล้าของด.ญ.โรมินา  อัชราฟี ได้นำเคียวเปื้อนเลือดนั้นไปมอบตัวกับตำรวจ ในขณะที่แม่ร้องไห้ปิ่มว่าจะขาดใจ

การตายของ ด.ญ.โรมินากลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศอิหร่าน ผู้คนแสดงความโกรธแค้นจนแฮชแท็ก #Romina_Ashrifa พุ่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์ แต่เนื่องจากกฎหมายอิสลามของอิหร่านจะลดโทษให้กับสมาชิกในครอบครัวที่ก่อเหตุฆาตกรรมเพื่อปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีของวงศ์ตระกูล ดังนั้นโทษติดคุกจะไม่ถึงสิบปี ว่ากันว่าภัยนอกบ้านสำหรับผู้หญิงในประเทศอิหร่าน มีน้อยกว่าภัยใกล้ตัวที่เกิดจากคนในบ้านเสียอีก

ที่เกิดและที่ตายของโรมินาอยู่ในเมืองตาเลช ทางทิศตะวันออกของประเทศอิหร่าน (Image cr. : thailandstack.com)

ทำไมจึงต้องฆ่า

ในปี 2008 กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund : UNFPA) เปิดเผยว่าในแต่ละปี มีการฆาตกรรมในนามของ “การฆ่าเพื่อรักษาเกียรติ”( Honor Killing) ไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย เฉพาะในปี 2010 ที่ประเทศอังกฤษประเทศเดียวมีกรณีผู้เสียชีวิตเพื่อสังเวยเกียรติยศของครอบครัวถึง 2,823 ราย นี่ยังไม่รวมถึงการฆาตกรรมที่คนในบ้านแจ้งว่าเป็นอุบัติเหตุ สำนักข่าว BBC จึงประเมินว่า ผู้เสียชีวิตจากการฆ่าเพื่อรักษาเกียรติในแต่ละปีน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 20,000 ราย

เหตุผลของ “การฆ่าเพื่อรักษาเกียรติ” มาจากข้ออ้างที่ว่าผู้ตายนำความอับอาย เสื่อมเสียเกียรติมาสู่ครอบครัว เนื่องจากการหย่ากับสามี การปฏิเสธการแต่งงานกับผู้ชายที่พ่อแม่เห็นชอบ การมีความสัมพันธ์นอกสมรส การคบหาผู้ชายที่พ่อแม่ไม่อนุญาต การแต่งกายที่ขัดต่อหลักศาสนา การตกเป็นเหยื่อการข่มขืน การมีความรักและความสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน โดยภาพรวมแล้ว “การฆ่าเพื่อรักษาเกียรติ” มุ่งไปที่การกดขี่สตรีเพศไม่ให้มีเสรีภาพด้านความรักและการแต่งงาน

เคียวที่พ่อของเธอใช้เป็นอาวุธปลิดชีพโรมินา (Image cr. : teleamazonas.com)

ก่อนจะมีการลงโทษด้วยการทรมาน กักขัง หรือสังหาร สมาชิกฝ่ายชายจะต้องตามดูพฤติกรรมของฝ่ายหญิงไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ในหลายประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามจึงมีข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงออกนอกบ้านตามลำพังโดยไม่มีพี่ชาย น้องชาย สามี หรือพ่อไปด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันการกระทำที่จะนำมาสู่การเสื่อมเกียรติ เช่น การลักลอบพบปะเพศตรงข้าม แต่ถ้าหากมีฝ่ายหญิงคนใดในครอบครัวฝ่าฝืนคำสั่ง คนในบ้านจะตั้งศาลเตี้ยพิพากษาลงโทษกันเอง ส่วนใหญ่แล้วจะถือเป็นเรื่องภายในครอบครัว แต่ก็มีบางกรณีเป็นข่าวใหญ่จนโลกต้องหันมามอง อย่างกรณีของด.ญ.โรมินา  อัชราฟี

อนาคตที่มืดมน

แม้แฮชแท็ก #Romina_Ashrifa ไม่อาจจุดกระแสสังคมได้เทียบเท่ากับ #blacklivesmatters แต่อย่างน้อยที่สุด นี่คือจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เพราะที่ผ่านมา ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการฆ่าเพื่อรักษาเกียรติร้อยละ 81 ถูกฆ่าด้วยคนในครอบครัว ร้อยละ 53 ของเหยื่อที่มีอายุน้อย มักจะถูกทรมานก่อนที่จะเสียชีวิต ซึ่งพวกเธอไม่มีสิทธิ์เรียกร้องความยุติธรรมใดๆ

อนาคตที่สดใสของสาวน้อยโรมินาต้องดับวูบไปเพราะความไร้สติ และความเชื่อของครอบครัว (Image cr. : newsvarie.net)

บาลี ไรย์ ผู้เขียนเรื่อง “Killing Honour : เหยื่ออัปยศ” ได้กล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับการฆ่าเพื่อรักษาเกียรติไว้ในตอนท้ายของหนังสือเรื่อง “เหยื่ออัปยศ” ว่า

“ผมรู้สึกมาตลอดว่า วลี ‘การทำร้ายถึงแก่ชีวิตเพื่อรักษาเกียรติและศักดิ์ศรี’ นั้นเป็นวลีที่ฟังแปลกมาก เหมือนกับจะมีความหมายว่าเป็นการฆาตกรรมที่มีเหตุให้บรรเทาโทษได้ แทนที่จะเป็นแค่ฆาตกรรม…ผมได้แต่สะเทือนใจและประหลาดใจมากที่เห็นสมาชิกในครอบครัวสามารถก่อเหตุที่ใช้ความรุนแรง หรือสมรู้ร่วมคิดในการกระทำนั้น และในหลายกรณียังทำตัวเงียบเฉยในขณะที่เกิดเหตุดังกล่าว”

แม้โรมินาจะจากไปแล้ว แต่เรื่องราวของเธอจะเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง (Image cr. : iranjournal.org)

เหตุผลเดียวที่ทำให้สิ่งนี้ยังคงมีอยู่ก็คือการสนับสนุนจากสังคม อย่างกรณีของประเทศจอร์แดน เมื่อปี 2554 สมาชิกสภานิติบัญญัติ พยายามแก้ไขกฎหมายมาตรา 76 ที่เปิดช่องให้ “การฆ่าเพื่อรักษาเกียรติ” เป็นการกระทำที่ถูกกฎหมาย แต่ด้วยแรงต่อต้านจากคนในสังคมทำให้การเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าวต้องมีอันพับไปในที่สุด

เมื่อคนในครอบครัวถือเป็นหน้าที่ในการรักษาความบริสุทธิ์ดุจผ้าขาวให้กับหญิงสาว การฆ่าโดยผู้เป็นพ่อ พี่ชาย น้องชาย สามี หรือบางกรณีกลายเป็นแม่เป็นที่ลงมือฆ่าลูกเสียเอง กลับได้รับการยกย่องว่าเป็นการรักษาเกียรติ แทนที่จะถูกประณาม

น่าแปลกที่พวกเขาอับอายที่ลูกสาวประพฤติตัวนอกลู่นอกทาง…แต่กลับไม่อายที่ตนเองต้องกลายเป็นฆาตกร…

อ่านเรื่องราวที่สะท้อนความจริงในสังคมที่ยังมีการฆ่าเพื่อรักษาเกียรติได้จากหนังสือเหล่านี้

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ คลิกที่นี่

https://www.sanskritbook.com/category/story/

จิ๊กซอว์ตัวสำคัญในเหตุการณ์กวาดต้อนชาวยิวใจกลางกรุงปารีส

ห้องสมุดจิ๋วในตู้โทรศัพท์ลอนดอน

The Godmother เมื่อผู้หญิงกลายเป็นหัวหน้ามาเฟีย

 

« ขั้นตอนการสั่งซื้อทางเว็บไซต์
จิ๊กซอว์ตัวสำคัญในเหตุการณ์กวาดต้อนชาวยิวใจกลางกรุงปารีส »