ฝังศพกลางฟ้า…ฝากวิญญาณไปกับแร้ง 21 เมษายน 2020 – Posted in: People & Places

“อะไรกัน แค่ฆ่าอีแร้งหนึ่งตัว ทหารเราต้องสละชีวิตชดใช้หนึ่งชีวิตเลยหรือ!”
จากหนังสือ “ฝังเธอที่ปลายฟ้า” ผู้เขียนซินหรัน

แร้ง คือ นกหัวล้านที่คนไทยพากันรังเกียจ นอกจากรูปร่างของมันจะไม่น่าเอ็นดูแล้ว ภารกิจของนกแร้งยังเป็นยิ่งกว่าสัปเหร่อคือจัดการศพไม่ให้เหลือซาก!!!

แต่เราจะดูถูกแร้งเช่นนั้นไม่ได้ เพราะชาวทิเบตเชื่อว่า แร้งคือพาหนะนำส่งดวงวิญญาณของผู้ตายไปยังสรวงสวรรค์

เอาร่างให้แร้งกิน

ชาวทิเบตเชื่อว่านกแร้งมีสถานะเหมือนเทพบุตร เทพธิดา ที่ส่งวิญญาณสู่สวรรค์ (image cr. : abc.net.au)

การนำศพไปให้แร้งกินเคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ย้อนหลังไปในสมัยรัชกาลที่ 2 เกิดอหิวาห์ตกโรคครั้งใหญ่ระบาดไปทั่วพระนคร ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมายจนทำศพไม่ทัน ต้องขนออกไปกองสุมกันที่นอกรั้ววัดสระเกศ คอยให้แร้งลงมากิน จนเกิดเป็นสำนวนว่า “แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์”

เพราะมุมมองของคนไทยนั้นต่างไปจากชาวทิเบต เราจึงตั้งข้อรังเกียจกับแร้งว่าเป็นนกอัปมงคลที่คอยกินซากศพ แต่ชาวทิเบตเชื่อว่าแร้งคือเทพบุตร เทพธิดา ที่จะนำพาดวงวิญญาณของผู้ตายขึ้นไปยังสรวงสวรรค์

พิธีศพของชาวทิเบตซึ่งจบลงด้วยการนำร่างไปให้แร้งกิน ซึ่งกระทำติดต่อกันมานานนับพันปีแล้วนั้น สันนิษฐานว่ามีเหตุผลมาจากทิเบตมีต้นไม้น้อย ฟืนน้อย น้ำมันแพง อากาศหนาว ดินก็แข็ง ยิ่งบนภูเขามีแต่เป็นหิน ยากต่อการขุดหลุมให้ลึก เมื่อขุดหลุมฝังศพได้ไม่ลึกพอ ก็ทำให้มีสัตว์ต่างๆ คุ้ยศพขึ้นมาแทะดูน่าอนาถ การฝังศพไว้ในฟากฟ้าจึงเป็นหนึ่งในพิธีศพที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในทิเบต ส่วนการฝังและการเผานั้นมีไว้เพื่อให้เกียรติท่านลามะตำแหน่งสูง มิใช่เพื่อสามัญชน

เชิญแขกมาเป็นสักขีพยาน

บรรยากาศในสถานที่จัดการศพที่เปิดโอกาสให้ร่วมชมและส่งวิญญาณผู้ตายด้วยกัน (image cr. : buddhistchannel.tv)

ชาวทิเบตเชื่อว่า “ศพคือเปลือกภายนอกของวิญญาณ” เมื่อวิญญาณออกจากร่างย่อมไปเกิดใหม่ ส่วนศพก็ควรจะได้บำเพ็ญกุศลครั้งสุดท้าย ด้วยการเป็นอาหารแก่นกแร้ง

งานศพของทิเบตเริ่มต้นเมื่อมีการตายเกิดขึ้น ญาติต้องไปแจ้งแก่โรงพยาบาลพร้อมวันเดือนปีเกิดและวันเวลาที่เสียชีวิต เพื่อให้หมอคำนวณได้ว่าจะเก็บศพไว้ได้กี่วัน (อาจจะเป็น 3 ถึง 5 วัน) การทำศพของชาวทิเบตจะไม่มีการอาบน้ำศพหรือเปลี่ยนชุดใหม่ เสียชีวิตอยุ่ในชุดไหนก็ตั้งศพไว้ที่บ้านในชุดนั้น ระหว่างนั้นจะนิมนต์ลามะมาสวดทั้งวันทั้งคืน พ้นกำหนดตั้งศพที่บ้านแล้วจึงเคลื่อนศพขึ้นไปยังวัดบนยอดเขาที่มีลานปลงศพ ในยามเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และจัดการชำแหละศพกันตั้งแต่ช่วงตี 4-ตี 5 โดยอาจารย์ผู้ประกอบพิธีซึ่งเปรียบได้กับสัปเหร่อนั้นจะเรียกว่า “ด็อมเอ็ม”

งดงามในความสยดสยอง

ฝูงแร้งที่มารอจัดการกับศพ (image : budgettibettour.com)

การจัดการกับศพแบบทิเบตเป็นภาพที่ไม่น่าดูนัก อาจารย์ สัปเหร่อ หรือด็อมเอ็มจะชำแหละศพออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ด้วยเครื่องมือหลายขนาด มีตั้งแต่มีดอีโต้ไปจนถึงมีดเล่มเล็กๆ ที่ใช้แล่เนื้อ รวมแล้ว 15-16 เล่ม การชำแหละเริ่มต้นจากการกรีดหนังตรงเหนือคิ้วให้เป็นรอย แล้วถลกหนังศีรษะออกมากองไว้ จากนั้นผ่าท้องเอาตับไตไส้พุงออกมา แล้วแร่เนื้อออกจากกระดูก สับเนื้อเป็นชิ้น จากนั้นจึงใช้มีดอีโต้สับตรงข้อต่อ แล้วค้อนใหญ่กระหน่ำกระดูกให้แตก แล้วจึงผ่ากระโหลกจัดการเอามันสมองออกคลุกเคล้ากับเลือด ซึ่งมันสมองเป็นส่วนที่แร้งโปรดปราน

เคารพผู้วายชนม์อย่างสูงสุด

หลังจากแร้งจัดการกับร่างไปแล้ว ส่วนหนังศีรษะและเสื้อผ้าผู้ตายจะถูกเผาตามไป (image cr. : studymartialarts.org)

เมื่อจัดการร่างทั้งหมดพร้อมแล้ว ด็อมเอ็มจะส่งสัญญาณเรียกจ่าฝูงแร้งลงมากิน โดยส่งชิ้นส่วนแรกคือมันสมองที่ผสมกับเลือดให้กินก่อน ตามด้วยเนื้อที่สับไว้ เมื่อแร้งจัดการกับร่างจนหมดเกลี้ยงไม่เหลือเศษ ญาติจึงนำส่วนของหนังศีรษะที่ติดผม และเสื้อผ้าชุดสุดท้ายที่เตรียมมาด้วยเผาตามไป เป็นอันเสร็จพิธีส่งวิญญาณสู่ปรโลก โดยไม่ต้องมีการนำกระดูกไปลอยอังคาร หรือเก็บอัฐิส่วนหนึ่งของผู้ตายไว้ให้ทำบุญระลึกถึงกันทุกปี เพราะนั่นเป็นการทำให้ผู้ตายยังคงมีห่วงผูกพันกับคนที่บ้าน เหตุที่คนทิเบตไม่ร้องไห้ฟูมฟายเมื่อมีคนตาย เพราะอยากให้วิญญาณไปสบายนั่นเอง

ความเชื่อที่แตกต่าง

ทุกวันนี้ ในทิเบตยังคงมีประเพณีนี้อยู่แม้ว่าทางการจีนจะห้ามปรามแล้วก็ตาม แร้งที่เป็นสัตว์หายากจึงยังไม่สูญพันธุ์ไปจากทิเบต ต่างจากกรณีของแร้งที่หมดไปจากประเทศไทย และด้วยความเชื่อของชาวทิเบตที่ว่า “ถ้าคุณฆ่าแร้ง 1 ตัว คุณจะต้องชดใช้ด้วย 1 ชีวิต” จึงทำให้มีแร้งหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก

เพราะคนไทยพุทธเชื่อว่าการส่งดวงวิญญาณด้วยการเผาร่างและเก็บกระดูกไปลอยอังคารในแม่น้ำ เป็นการให้เกียรติผู้ตาย จึง มองว่าพิธีฝังศพในฟากฟ้าของชาวทิเบตเป็นพิธีอันป่าเถื่อน แต่ถ้าจะพิจารณากันให้ลึกซึ้งแล้วชาวทิเบตมีความเชื่อว่าการเกิด การตาย เป็นเพียงการเปลี่ยนเสื้อผ้าให้กับดวงวิญญาณที่ไม่ดับสูญ วัฒนธรรมบนหลังคาโลกที่ปราศจากการยึดติดในร่างกาย ยังเปิดโอกาสให้ผู้ตายได้ทำกุศลครั้งสุดท้ายด้วยตนเอง เมื่อร่างของเขาเติมเต็มกระเพาะอาหารของนกแร้ง เท่ากับเป็นการช่วยต่อลมหายใจให้สัตว์เล็กสัตว์น้อยได้อีกหลายชีวิต ที่ไม่ต้องเป็นอาหารของนกแร้ง

ในหนังสือเรื่อง “ฝังเธอที่ปลายฟ้า” เขียนโดยซินหรัน นอกจากสะท้อนความรักและพันธะสัญญาของแพทย์หญิงซูเหวิน ที่ตามหาสามีซึ่งหายไปในสงครามระหว่างจีน-ทิเบตแล้ว ยังช่วยเปิดโลกแห่งพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อของชาวทิเบต โดยมีฉากหลังเป็นภูมิประเทศอันเวิ้งว้าง แทรกไว้ด้วยความเศร้าซึ้งสะเทือนใจท่ามกลางความโหยหาที่ถ่ายทอดออกมาจากเรื่องจริง!!!

เราเติบโตขึ้นมาในวัฒนธรรมและความเชื่อที่แตกต่างกัน หากมองด้วยใจที่เปิดกว้าง เข้าถึง และเข้าใจ ย่อมเห็นแง่งามของพิธีกรรมทำศพแบบทิเบตที่ยังคงรักษากันสืบต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้

และที่สำคัญเราอาจจะรู้สึกโศกเศร้าน้อยลงหากยอมรับความจริงที่ว่าร่างกายก็คือมายา

อ่านเรื่องราวของทิเบตที่หาอ่านยากได้จากหนังสือเหล่านี้

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ คลิกที่นี่

https://www.sanskritbook.com/category/story/

สูรย์แย้มสรวล

ขี่ม้าไปจีบสาว

ข้าวปั้นของท่านนายพล

« ผู้สืบทอดอำนาจตระกูลคิม
สูรย์แย้มสรวล »