ย้อนรอยเส้นทางอำนาจตระกูลคิม : ตอน 1 คิม อิลซุง 29 เมษายน 2020 – Posted in: People & Places

คิม  อิลซุง เป็นใคร? เขาเป็นวีรบุรุษนักรบมาจากไหน? แทบจะไม่มีใครรู้ประวัติที่แท้จริงของเขาเลย เพราะสิ่งที่เขียนขึ้นในภายหลังเป็นผลงานการชำระประวัติศาสตร์ ที่ คิม  จองอิล บุตรชายของท่านผู้นำได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาต่อจิ๊กซอ เติมช่องว่างของประวัติศาสตร์ที่ขาดหายให้ดูยิ่งใหญ่สมจริง

คิม อิลซุง ภาคปฐมวัย (Image cr. : pinterest)

คิม  อิลซุง เกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน 1912 ซึ่งตรงกับวันที่เรือไททานิกอัปปางลงในมหาสมุทร ในวัยเด็กเขาต้องอพยพตามบิดามารดาไปอยู่ที่มณฑลจี๋หลิน แคว้นแมนจูเรีย สาธารณรัฐประชาชนจีน เพราะในช่วงนั้นคาบสมุทรเกาหลีตกอยู่ภายใต้การเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น เขาได้รับการศึกษาขั้นต้นที่มณฑลจี๋หลิน โตขึ้นจึงมีโอกาสเข้าร่วมกับกองทัพจีน และได้เดินทางเข้าไปยังเขตฮาบารอฟค์ ซึ่งอยู่สุดขอบทางทิศตะวันออกของสหภาพโซเวียต เพื่อร่วมกับกองทัพแดง นี่อาจจะเป็นเส้นทางที่ลิขิตไว้ให้เขาได้พบกับผู้นำโซเวียตในตอนนั้นคือโจเซฟ สตาลิน

สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง คิม อิลซุง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำเกาหลีเหนือ (Image cr. : endofempire.asia)

ปี 1945 สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง กองทัพโซเวียตเข้ายึดเมืองเปียงยางได้ เกาหลีจึงพ้นจากการเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น และด้วยมติของสหประชาชาติทำให้คาบสมุทรเกาหลีอยู่ในภาวะทรัสตี หรือประเทศที่ยังไม่ได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ นำไปสู่การแบ่งพื้นที่การดูแล โดยสหภาพโซเวียตควบคุมเกาหลีตอนเหนือ และสหรัฐอเมริกาดูแลเกาหลีตอนใต้ ทั้งสองฝ่ายแต่งตั้งผู้นำท้องถิ่นขึ้นมา สหรัฐอเมริกาแต่งตั้ง อี ซึงมัน เป็นผู้นำเกาหลีใต้คนแรก โจเซฟ  สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียตในขณะนั้นสนับสนุนให้คนหนุ่มอย่าง คิม  อิลซุง ที่พูดได้ 3 ภาษา ทั้ง เกาหลี จีน และโซเวียต ขึ้นเป็นผู้นำคอมมิวนิสต์สูงสุดของเกาหลีเหนือ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

โจเซฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (Image cr. : history.com

หลังจัดตั้งผู้นำทั้งสองประเทศเรียบร้อย สหรัฐอเมริกาจึงล่าถอยไปจากคาบสมุทรเกาหลี คิม  อิลซุง เห็นโอกาสเหมาะที่จะผนึกเกาหลีให้รวมกันเป็นหนึ่งและปกครองทั้งคาบสมุทรด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ สตาลินเห็นชอบในความคิดนี้จึงสนับสนุนให้มีการฝึกรบ ตลอดจนติดอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับกองทัพล่าอาณานิคมประชาชนเกาหลี ภายใต้การนำของ คิม  อิลซุง

สภาพบ้านเรือนในกรุงเปียงยางหลังสงครามเกาหลี ปี 1950 (Photo by Keystone/Getty Images)

ปี 1950 กองกำลังจากเกาหลีเหนือเปิดฉากรุกรานเกาหลีใต้ ซึ่งนับเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของของ คิม  อิลซุง ที่คิดว่าสหรัฐฯ จะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว แต่กลายเป็นว่ากองทัพเกาหลีใต้ ร่วมกับกองกำลังพันธมิตร ประกอบด้วยสหรัฐอเมริกาและกองกำลังจากสหประชาชาติ สามารถผลักดันกองทัพของ คิม อิลซุง ให้ล่าถอยเข้าไปถึงมณฑลจี๋หลิน ของสาธารณรัฐประชาชนจีน กองทัพเกาหลีใต้ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการผนึกกำลังของกองกำลังสหรัฐและกองกำลังสหประชาชาติเป็นหลัก ได้ติดตามเข้าไปถึงแม่น้ำยาลู ทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้การนำของ เหมา เจ๋อตุง ต้องส่งกองกำลังอาสามาช่วยผลักช่วยดันกองทัพเกาหลีใต้และพันธมิตรให้กลับไปที่เส้นขนานที่ 38 ก่อให้เกิดสถานที่สำคัญในเวลาต่อมา คือ หมู่บ้านพันมุนจอม

สงครามเกาหลียืดเยื้ออยู่ 3 ปี มีพลเรือนทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่ต้องสังเวยชีวิตและบาดเจ็บราว 2.5 ล้านคน นับเป็นเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดใจที่ชาวเกาหลีต้องลุกขึ้นมาประหัตประหารกันเอง

คิม อิลซุง ลงนามในข้อตกลงพักรบเกาหลี เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 1953 (Image cr. : Sovfoto/UIG via Getty Images)

หลังจากสงครามเกาหลีจบลง จึงเป็นเวลาของการฟื้นฟูประเทศ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 1960 คิม อิลซุง ยังไม่ได้มีสถานะเป็นเทพเจ้า ในช่วงแรกของการฟื้นฟูประเทศนั้นยังมีกลุ่มต่างๆ ที่มีผู้นำเข้มแข็งพร้อมที่จะช่วงชิงอำนาจ ในปลายปี 1968 รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติ คิม จังบง พยายามจะทำรัฐประหารเพื่อล้มอำนาจ คิม  อิลซุง ในเดือนมกราคม 1969 หลังจากที่ คิม อิลซุง ปลด คิม จังบง และผู้สนับสนุนออกจากตำแหน่งแล้ว เขาได้แต่งตั้ง พลเอก เช ฮยอน ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน และนายพลคนนี้มีแนวคิดไปในแนวทางอนุรักษ์นิยม เขาเชื่อว่าผู้สืบทอดอำนาจต่อจากผู้นำควรเป็นลูกชายคนโต นั่นคือ คิม  จองอิล

คิม อิลซุง เป็นผู้นำสูงสุดในปี 1972 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (Image cr. : Sygma via Getty Images)

ในปี 1972 รัฐบาลเกาหลีเหนือประกาศร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยให้ คิม อิลซุง ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทำให้เขามีอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครอง สอดคล้องกับลัทธิบูชาผู้นำซึ่งสตาลินได้วางแนวทางไว้ให้แต่แรก

ในช่วงทศวรรษ 1970 ความสัมพันธ์ของเกาหลีเหนือ กับสหภาพโซเวียต และสาธารณรัฐประชาชนจีนเริ่มง่อนแง่น นิกิตา  ครุสซอฟ ผู้นำโซเวียตคนใหม่มีนโยบายต่อต้านลัทธิสตาลิน ซึ่งเป็นต้นแบบลัทธิบูชาบุคคล ทำให้เกาหลีเหนือถูกตัดความช่วยเหลือจากประเทศคอมมิวนิสต์ยักษ์ใหญ่ทั้งสอง ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดวิกฤตราคาน้ำมันโลก ทำให้เศรษฐกิจภายในเกาหลีเหนือถดถอยลง คิม  อิลซุง จึงผลักดันนโยบาย “จูเช” ซึ่งเป็นแนวคิดหลักเรื่องการพึ่งพาตนเองใน 3 ด้าน ได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร และตัดสินใจปิดประเทศ ตัดความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศอื่นๆ รวมทั้งเชิญทูตต่างประเทศออกจากเกาหลีเหนือ แต่ยิ่งตัดขาดความช่วยเหลือจากภายนอกมากเท่าไร การบริหารภายในประเทศยิ่งดิ่งลงเหว ในขณะที่เกาหลีใต้ตอนนั้นกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดดด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรมภายใต้ระบบทุนนิยม

คิม จองอิลในวัยหนุ่ม เริ่มต้นสู้เส้นทางอำนาจ (Image cr. : Korean Central News Agency/Korea News Service via AP Images)

ในช่วงปีต้นทศวรรษ 1970 นั้นเอง ที่ คิม  จองอิล ลูกชายคนโตของเขา เริ่มเข้ามาควบคุมสำนักงานโฆษณาชวนเชื่อและปลุกระดมพรรคแรงงาน และบริหารโรงถ่ายภาพยนตร์ของประเทศ คิม  จองอิล จึงสร้างเครื่องมือย้อมใจให้ความบันเทิงแก่ประชาชนส่งออกไปตามท้องถิ่นต่างๆ ชาวเกาหลีเหนือที่กำลังลำบาก ถูกกักกันอิสรภาพ ก็ได้เสพสุขจากจอภาพยนตร์ชดเชยความสุขที่ขาดหายไปจากชีวิตจริง อีกทั้งยังค่อยๆ ซึมซับความรักชาติ รักประเทศ รักท่านผู้นำ คิม  อิลซุง ไปพร้อมๆ กัน จึงเห็นได้ชัดว่าลูกชายคนโตของท่านผู้นำ เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศเกาหลีเหนือนับตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว

คิม จองอิล และ คิม จองซุก มารดา ที่อยู่ด้วยกันแค่เพียง 9 ปี (Image cr. : sinonk.com)

ทางด้านชีวิตส่วนตัว ท่านผู้นำไม่เคยมองข้ามเรื่องความรักแม้จะอยู่ในระหว่างรบ คิม  อิลซุง แต่งงานครั้งแรกกับ คิม  จองซุก ทั้งคู่มีทายาทด้วยกัน 3 คน ลูกชายคนโต คือ คิม  จองอิล ลูกชายคนที่สองเสียชีวิตราว 4 ขวบด้วยสาเหตุจมน้ำ และคนที่สามเป็นลูกสาวชื่อ คิม  คยองฮุย  ในปี 1949  คิม  จองซุก ภรรยาคนแรกเสียชีวิตในช่วงปีสุดท้ายก่อนเริ่มสงครามเกาหลี ในปี 1952 ก่อนที่สงครามเกาหลีจะยุติ เขาได้สมรสใหม่กับ คิม  ชองแอ เลขานุการิณีผู้ติดตาม และมีทายาทด้วยกันอีก 3 คน เป็นลูกสาว 1 คน และลูกชายสองคน

คิม อิลซุง กับลูกทั้งสองที่เกิดจากภรรยาคนแรก (ซ้าย) คิม จองอิล (ขวา) คิม คยองฮุย (Image cr.: nkleadershipwatch.org)

การมีทายาทโดยเฉพาะเพศชายเป็นความจำเป็นสำหรับผู้นำในระบอบเผด็จการ อะไรจะเกิดขึ้นถ้าหากเขาตายไป สิ่งนี้ก่อกวนความรู้สึกในใจของ คิม  อิลซุง มาได้ระยะหนึ่ง อะไรคือจุดหมายของการปฏิวัติที่สำเร็จ? อะไรจะเกิดขึ้นกับเกาหลีเหนือเมื่อเขาจากไปแล้ว? ทางเดียวที่จะมั่นใจได้ว่าเขาสามารถปกป้องการคุกคามของระบอบทุนนิยมได้ คือ การตั้งทายาทสืบต่ออำนาจ และทายาทคนนั้นต้องไม่เป็นแค่คนใกล้ชิดผู้ภักดี แต่จะต้องยึดมั่นในหลักการของพรรค สานต่อนโยบายที่เขามอบให้ รวมไปถึงความปรารถนาลึกๆ ในใจของเขาคือ คิม  อิลซุง จะคงอยู่ต่อไปเพื่อเป็นหลักใจของชาวเกาหลีเหนือ

คิม พยองอิล น้องชายต่างมารดากับคิม จองอิล สมัยยังหนุ่ม ถูกส่งไปเป็นทูตในยุโรปอย่างต่อเนื่อง (Image cr. : forum.lowyat.net)

ซึ่งในสายตาของคิม  อิลซุง ตอนนั้นเขาเห็นอยู่สามคน คนแรกคือ คิม ยองจู น้องชายแท้ๆ ที่เคยร่วมรบต่อสู้กับญี่ปุ่นมาด้วยกัน เขามีประสบการณ์สูงในฐานะที่เป็นบุคคลระดับสูงของพรรคแรงงานเกาหลีเหนือ คนที่สองคือ คิม  พยองอิล ลูกชายที่เกิดจาก คิม  ซองแอ ภรรยาคนปัจจุบันซึ่งดำรงตำแหน่งสตรีหมายเลขหนึ่ง ถึงแม้จะเป็นคนหนุ่มอายุยังน้อยแต่ก็มีความกระตือรือร้น และฉายแววผู้นำจากการเลียนแบบพ่อ แต่คนที่น่าจะเข้าใจแนวคิดและนโยบายของเขามากที่สุด คือ คิม จองอิล ลูกชายคนโตที่เกิดจากภรรยาคนแรกคือคิม จองซุก

พ่อและลูกชาย คิม จองอิล ที่กลายเป็นเงาของท่านผู้นำ(Image cr. : hrw.org)

ในช่วงปีท้ายๆ ก่อนที่ คิม  อิลซุง จะเสียชีวิต คิม  จองอิล เริ่มออกงานเคียงข้าง คิม  อิลซุง บ่อยครั้ง สร้างการรับรู้ต่อกองทัพและสาธารณชนไปโดยปริยายว่าเขาคือผู้สืบทอดอำนาจที่ถูกเลือกแล้ว ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1992 ซึ่งตรงกับวันเกิดครบรอบ 50 ปี ของ คิม จองอิล มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่และมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อีกทั้งสถานีวิทยุของประเทศยังได้กล่าวถึงเขาว่า “บิดาอันเป็นที่รัก” แทนคำว่า “ผู้นำอันเป็นที่รัก” เท่ากับว่า คิม  จองอิล ได้รับตำแหน่งผู้สืบต่ออำนาจอย่างสมบูรณ์ แม้ว่าความเป็นจริงแล้ว ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะอยู่ภายใต้การกำกับและการเขียนบทอันแยบยลของ คิม  จองอิล ก็เป็นได้

คิม อิลซุง และ คิม จองอิล สองท่านผู้นำในแผ่นดินเดียวกัน (Image cr. : kainuunsanomat.fi)

คิม อิลซุง ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 8 กรกฎาคม 1994 อายุได้ 82 ปี ด้วยอาการหัวใจกำเริบ ชาวเกาหลีเหนือแสดงความโศกเศร้าไปทั้งประเทศเป็นเวลา 10 วัน ภายหลังการเสียชีวิตของเขา ได้มีการตั้งเสาหิน 3,200 ต้นทั่วเกาหลีเหนือ เพื่อเป็นหอคอยแห่งชีวิตนิรันดร์ ร่างของท่านถูกเก็บไว้ในโลงแก้ว ณ  วังสุริยะคึมซันซู ในกรุงเปียงยาง วันคล้ายวันเกิดของ คิม  อิลซุง ทุกๆ ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 15 เมษายน ได้กลายเป็นวันหยุดประจำชาติเรียกว่า “Day of The Sun” ซึ่งเป็นวันที่มีการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ไปทั้งดินแดนโสมแดง และทางการให้หยุดติดต่อกัน 3 วัน

การเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ในพิธีเฉลิมฉลองวันครบรอบวันเกิดท่านผู้นำ ที่ชื่อว่า “Day of the Sun” (Image cr. cnn.com)

ปี 1912 ซึ่งเป็นปีเกิดของคิม  อิลซุง ได้กลายเป็นจุดนับหนึ่งของศักราชจูเช ซึ่งเป็นศักราชใหม่ของชาวเกาหลีเหนือ ปี ค.ศ. 2020 ตรงกับปีจูเช 108

คิม  อิลซุง ได้กลายเป็นดวงสุริยาที่ยังคงสาดแสงสว่างเหนือดินแดนเกาหลีเหนือ ตราบเท่าที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

อ่านเรื่องราวที่ฉายภาพดินแดนโสมแดงจากเบื้องลึกถึงแก่นได้จากหนังสือกลุ่มเกาหลีเหนือ

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ คลิกที่นี่

https://www.sanskritbook.com/category/story/

ผู้สืบทอดอำนาจตระกูลคิม

ฝังศพกลางฟ้า…ฝากวิญญาณไปกับแร้ง

สูรย์แย้มสรวล

 

« ย้อนรอยเส้นทางอำนาจตระกูลคิม : ตอน 2 คิม จองอิล
ผู้สืบทอดอำนาจตระกูลคิม »