Biblioburro ห้องสมุดบนหลังลา ที่ประเทศโคลอมเบีย 20 พฤษภาคม 2020 – Posted in: People & Places

กว่าสองทศวรรษมาแล้ว ที่ครูประชาบาลอย่าง “หลุยส์ โซเรียโน โบฮอร์เกซ” (Luis Soriano Bohorquez) บรรทุกหนังสือกว่าร้อยเล่ม ไปบนหลังลาสองตัว เพื่อให้เด็กๆ ในท้องถิ่น La Gloria ซึ่งเป็นชนบทที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ในประเทศโคลอมเบีย ได้มีโอกาสอ่านหนังสือ

คุณครูประชาบาล ผู้มีใจมุ่งมั่นอยากให้เด็กๆ อ่านออกเขียนได้ (Image cr. : thecitypaperbogota.com)

หลายประเทศในอเมริกาใต้ ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตและเป็นเส้นทางลำเลียงยาเสพติดของโลก ตั้งแต่เม็กซิโก เอกวาดอร์ ฮอนดูรัส กัวเตมาลา ปานามา โบลิเวีย เปรู โดยเฉพาะอย่างยิ่งโคลอมเบียซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ เพราะความทุรกันดารเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา เด็กๆ ในชนบทจึงมีโอกาสถูกชักจูงได้ง่ายจากแก๊งค้ายาเสพติด

หลุยส์ โซเรียโน โบฮอร์เกซ เชื่อว่าความรู้คืออาวุธที่ปกป้องเด็กๆ ไม่ให้เดินผิดทาง เขาจึงไม่สนใจแม้ใครจะหัวเราะเยาะ เมื่อเห็นผู้ชายใส่แว่นตา สวมหมวก นั่งมาบนหลังลา พร้อมสัมภาระที่ตุงไปด้วยหนังสือ 120 เล่ม นอกจากนี้ยังมีโต๊ะ-เก้าอี้พับได้ พลาสติกปูพื้น อุปกรณ์เหล่านี้ดูเหมาะกับพ่อค้าเร่ที่พร้อมจะเปิดแผงตรงไหนก็ได้ แต่ว่าเขาไม่มีของมาขาย ไม่มีอะไรมาแจก มีแต่แบกความรู้มาให้ พร้อมความมหัศจรรย์ที่เด็กๆ จะได้ค้นพบจากหนังสือนิทาน สารานุกรม การ์ตูน วรรณกรรม เยาวชน ฯลฯ

แรงบันดาลใจของเขามาจากความรักการอ่านตั้งแต่วัยเด็ก และเขาได้มีโอกาสเรียนจบด้านวรรณคดีสเปน เพราะศาสตราจารย์ที่เดินทางมายังหมู่บ้านเดือนละ 2 ครั้ง เขารู้ดีว่าเด็กๆ ในชนบทต้องลำบากลำบนแค่ไหนในการไปโรงเรียน พวกเขาต้องเดินเท้า หรือไม่ก็ขี่ลากว่า 40 นาทีกว่าจะถึงโรงเรียนที่ใกล้ที่สุด เด็กๆ หลายคนพอจบชั้นประถมก็เลยเลิกเรียนหนังสือ เพราะบ้านไกล อีกทั้งไม่มีครูคนไหนอยากมาสอนในโรงเรียนที่ไกลปืนเที่ยง

แม้จะทุรกันดารขนาดไหน คุณครูก็ฝ่าไปเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนเขียนอ่าน (Image cr. : youtube.com)

ห้องสมุดบนหลังลามีชื่อว่า “บลิบลิโอเบอโร” (Bliblioburro) จะเดินทางไปหาเด็กๆ พร้อมกับลาสองตัว ชื่ออัลฟา (Alfa) กับเบโต (Beto) ปีแรกที่เริ่มโครงการในช่วงปลายทศวรรษ 1990 เขามีหนังสืออยู่ 70 เล่ม จนกระทั่งวันหนึ่งเขาเขียนจดหมายไปขอหนังสือจาก Juan Gossain ซึ่งเป็นนักเขียน และสื่อมวลชน ที่นำเรื่องของเขาไปเล่าออกอากาศทางวิทยุ ทำให้มีหนังสือหลั่งไหลมาบริจาคไม่ต่ำกว่า 5,000 เล่ม

ทุกวันพุธตอนเย็น และทุกวันเสาร์ตอนเช้ามืด คุณครูโซเรียโนจะคัดสรรหนังสือที่เหมาะกับเด็ก จำนวน 120 เล่ม บรรทุกขึ้นหลังลา ไปยังหมู่บ้านห่างไกล ซึ่งแต่ละแห่งใช้เวลาไปกลับไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง เขาจะหมุนเวียนไปใน 15 หมู่บ้าน แต่ละแห่ง มีลูกศิษย์ราว 30-50 คน ที่รอคอยครูอย่างมีความหวัง ต่อให้เดินทางมาไกล หรือเหน็ดเหนื่อยขนาดไหน เมื่อเห็นเด็กๆ ดีใจที่ครูมา ก็เป็นพลังที่ทำให้เขาหายเหนื่อย

คุณครูโซเรียโน อ่านหนังสือให้เด็กๆ ฟัง (Image cr. : aljazeera.com)

ระหว่างทางไปหาลูกศิษย์ใช่ว่าจะราบรื่น ในปี 2006 เขาเคยถูกโจรจับมัดไว้กับต้นไม้ เมื่อพบว่าเขาไม่ได้มีเงินติดตัวมาให้ปล้น ในปี 2012 เขาตกจากหลังลาจนขาเจ็บเกือบเดินไม่ได้ แต่ในปี 2013 เขาเริ่มออกเดินทางอีกครั้ง ถึงวันนี้มีเด็กกว่า 5,000 คนได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการ“บลิบลิโอเบอโร” (Bliblioburro) โครงการห้องสมุดบนหลังลายังสร้างแรงบันดาลใจไปยังที่อื่นๆ ในโลก เช่น ติมอร์ตะวันออก เรื่องราวของเขามีคนนำไปเขียนเป็นหนังสือนิทานชื่อว่า “Waiting for the Bliblioburro”

เป้าหมายของ หลุยส์ โซเรียโน โบฮอร์เกซ ตอนนี้ นอกจากจะสร้างห้องสมุดในชุมชนให้เสร็จแล้ว เขายังหวังจะสร้างโคลอมเบียแห่งอนาคต เพื่อให้เด็กรู้หนังสือ เท่าทันโลก และไม่เติบโตไปสู่เส้นทางค้ายาที่คอยหลอกล่อพวกเขาอยู่

อ้างอิง

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ คลิกที่นี่

https://www.sanskritbook.com/category/story/

« iRead Mobile Library ห้องสมุดติดล้อคันแรกของไนจีเรีย
แมนซานาร์ ฝันร้ายของชาวอเมริกันสายเลือดญี่ปุ่น »