มารีอา บีร์คีเนีย ฟารีนังโก…ราชินีอินคา 18 สิงหาคม 2019 – Posted in: The Authors – Tags: บีร์คีเนีย, ราชินีอินคา, อินดีเฆนา, เอกวาดอร์
“เธอดูโดดเดี่ยวทีเดียว สายสร้อยลูกปัดสีทองคล้องรอบคอนั้น ดูราวรัศมีทรงกลด เธออายุราวสามสิบปี รุ่นราวคราวเดียวกับฉัน แต่ดวงตาคู่นั้นบ่งบอกความเป็นผู้ใหญ่ ทว่า ยังคงแฝงความเป็นเด็ก เท่าที่ฉันสังเกตเห็น นั่นเป็นดวงตาของคนที่ผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน ตั้งแต่แรกที่ได้เห็นเธอ ฉันก็แน่ใจว่า หญิงสาวคนนี้คือคนที่ฉันอยากทำความรู้จัก” นี่คือข้อความที่ ลอรา รีซอ (Laura Resau) นักเขียนชาวอเมริกัน จากเมืองบัลติมอร์ ถ่ายทอดไว้ในหนังสือ “The Queen of Water” ที่สำนักพิมพ์สันสกฤตนำมาแปลสู่สายตาผู้อ่านภายใต้ชื่อ “ราชินีอินคา”
“ราชินีอินคา” คือ ภาพสะท้อนชะตากรรมของชนพื้นเมืองเผ่าอินคาที่ถูกผลักให้ไปเป็น “พลเมืองชั้นสอง” ในประเทศเอกวาดอร์…ทว่าเรื่องราวในชีวิตจริงของ มารีอา บีร์คีเนีย ฟารีนังโก (Maria Virginia Farinango) หญิงสาวพื้นเมืองชาวเอกวาดอร์ ผู้สืบเชื้อสาย “อินดีเฆนา” มาจากบรรพบุรุษชนเผ่าอินคา เจ้าของอารยธรรมสูงส่งแห่งอเมริกาใต้ ได้นำพาเราให้เดินทางไปพร้อมกับเธอ เพื่อไปรู้จักขนบ ธรรมเนียม วัฒนธรรม วิถีความเป็นอยู่ของชาวอินคา ณ หมู่บ้านเล็ก ๆ ในประเทศเอกวาดอร์ ได้อย่างแจ่มกระจ่าง และเปี่ยมไปด้วยความหวัง
และนี่คือส่วนหนึ่งของความรู้สึกนึกคิด ที่ มารีอา บีร์คีเนีย ฟารีนังโก ได้ถ่ายทอดไว้ในหนังสือเล่มนี้
“หลังจากชาวสเปนพวกล่าอาณานิคมเข้ามารุกรานเรา นับจากนั้นหลายศตวรรษที่ผ่านมา ชนชาติเอกวาดอร์ได้แตกเป็นสองกลุ่ม พวกเมสติโซ และ พวกอินดีเฆนา พวกอินดีเฆนา ผิวแดงคล้ำ หยาบกระด้าง โหนกแก้มเกรียมแดดกร้านลม เหมือนมันฝรั่งที่เพิ่งขุดมาใหม่ๆ ชื่อของเราฟังดูเชยๆ ล้าหลัง อย่างชื่อฉัน มารีอา บีร์คีเนีย ฟารีนังโก
ตอนเป็นเด็กฉันเกลียดพวก ‘เมสติโซ’ แต่ฉันก็อยากเป็น ‘เมสติซา’ เสียเหลือเกิน สาวน้อยลูกหลานชนเผ่าอินคาที่เคยอับอายในรากเหง้าของตัวเอง อับอายที่มีพ่อแม่เป็นชนพื้นเมือง อับอายที่มีสายเลือดอินดีเฆนาและเติบโตมารองมือรองเท้าคนผิวขาว ฉันเติบโตด้วยความสับสนและอับอายในรากเหง้าของตัวเอง จนกระทั่งได้แอบเรียนหนังสือ จึงก็ได้ค้นพบว่า ‘การศึกษา’ เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างได้!”
Photo Cr. : lauraresau.blogspot.comบีร์คีเนีย ฟารีนังโก และลอรา ลีซอ
การต่อสู้กับตนเองและความกดขี่ในสังคมของบีร์คีเนียได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับลอรา รีซอ (Laura Resau) นักเขียนชาวอเมริกัน จากเมืองบัลติมอร์ ซึ่งใช้เวลาทำงานร่วมกับเธอเป็นเวลาหลายสิบชั่วโมง รวมทั้งมีการสัมภาษณ์ผู้คนที่แวดล้อม เพื่อสร้างฉากและรายละเอียดต่าง ๆ จนกลายเป็นหนังสือเรื่อง “The Queen of Water-ราชินีอินคา” ซึ่งได้รับการแปลมากกว่า 35 ภาษาทั่วโลก
เรื่องราวของ มารีอา บีร์คีเนีย ฟารีนังโก เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของเรื่องราวอีกมากมายในสังคมเอกวาดอร์ ตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แม้เรื่องการเหยียดเชื้อชาติในประเทศยังคงมีมาต่อเนื่อง แต่ อินดีเฆนาจำนวนมากในโอตาวาโล อย่างมารีอา บีร์คีเนีย และสามีเธอ ต่างได้น้อมรับวัฒนธรรมตัวเองและได้กลายเป็นนักดนตรี และนักธุรกิจค่าศิลปะหัตถกรรมที่เดินทางไปรอบโลก จากความสำเร็จของพวกเขาเหล่านี้ ประกอบกับขบวนการเรียกร้องสิทธิเพื่อชาวพื้นเมือง อินดีเฆนาในแถบเทือกเขาแอนดีสของประเทศเอกวาดอร์ จึงเริ่มมีบทบาทและอำนาจในทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
‘ราชินีอินคา’ คือหนังสือที่พาเราไปสูดกลิ่นอเมริกาใต้ ชีวิตของเด็กพื้นเมืองที่หลงทาง สับสน ไร้ตัวตัว อับอายในรากเหง้าของตนเอง จนกระทั่งได้แอบเรียนหนังสือและกลับมายืนหยัดในความเป็นชนพื้นเมืองได้อย่างภาคภูมิ
อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ คลิกที่นี่
https://www.sanskritbook.com/category/story/