แมรี ลินน์ แบรตช์ ถ่ายทอดบาดแผลของหญิงบำเรอสู่ตัวหนังสือสุดสะเทือนใจ 24 ตุลาคม 2019 – Posted in: The Authors – Tags: , , , ,

แมรี ลินน์ แบรตช์ เป็นลูกครึ่งเชื้อสายอเมริกัน-เกาหลี เกิดที่เมืองสตุทท์การ์ดต ประเทศเยอรมนี จากนั้นไปเติบโตที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอจบปริญญาตรีด้านมานุษยวิทยา และจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัย Texas และได้รับปริญญาโทด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ จาก Birkbeck, University of Londonซึ่งความสามารถของเธอแสดงให้โลกได้ประจักษ์ภายใต้งานเขียนชิ้นสำคัญชื่อ “White Chrysanthemum” ซึ่งสันสกฤตนำมาแปลไทย ภายใต้ชื่อ “เบญจมาศสีเลือด”

หนังสือเล่มนี้ทำให้ผู้อ่านร้าวรานหัวใจไปกับชะตากรรมของพี่น้องสองสาว ฮานาและเอมิ เธอทั้งคู่เกิดมาในครอบครัว “แฮเนียว” อันเป็นอาชีพเก่าแก่ของชาวเกาะเชจู ทางตอนใต้ของประเทศเกาหลี อาชีพที่ว่านี้คือ การดำน้ำตัวเปล่าปราศจากอุปกรณ์ใดๆ เพื่องมหาของทะเลมาขาย เป็นอาชีพที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน และที่สำคัญ เพศหญิงเท่านั้นที่ยึดอาชีพนี้ ว่ากันว่าปอดของผู้หญิงแข็งแรงกว่า ดำน้ำได้อึดกว่าผู้ชาย มันเป็นงานที่สร้างความภาคภูมิใจให้พวกเธอมานมนาน ด้วยเหตุที่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ชาย อาชีพแฮเนียวนี้ได้ถูกส่งต่อกันรุ่นต่อรุ่น ตั้งแต่รุ่นคุณย่าคุณยายมายังรุ่นแม่และรุ่นลูก

Photo Cr. : https://www.ozy.com

แมรี ลินน์ แบรตช์ สร้างพล็อตเรื่องด้วยการเริ่มต้นขึ้นในวันหนึ่งของช่วงสงครามโลกครั้งที่2 เมื่อฮานาหญิงสาวผู้พี่โผล่ขึ้นมาจากท้องทะเลเนื้อตัวเปียกปอนหลังเสร็จจากภารกิจประจำวัน ในขณะที่ทหารญี่ปุ่นเดินผ่านมาพอดี พวกเขาจับตัวเธอไปเป็น Comfort Woman หรือหญิงบำเรอกามในซ่องทหารแมนจูเรีย ทิ้งให้น้องสาวผู้อยู่ข้างหลังต้องอยู่กับความดำมืดติดค้างจนชั่วชีวิต เพราะชะตากรรมของหญิงบำเรอนั้นมักลงท้ายด้วยการหายตัวสาบสูญ เรื่องราวของพี่น้องสองสาวสายเลือดแฮเนียว คือภาพสะท้อนความโหดร้ายของกองทัพพระจักรพรรดิผู้เชื่อว่าเซ็กส์จะช่วยให้พวกเขาชนะสงคราม อันเป็นที่มาของการลักพาตัวผู้หญิงนับแสนคนในดินแดนที่ญี่ปุ่นเข้าครอบครอง

“นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าผู้หญิงและเด็กสาวชาวเกาหลี 50,000 ถึง 200,000 คนถูกลักพาตัว ล่อลวง หรือขายไปเป็นทาสทางเพศ เพื่อกองทัพญี่ปุ่นและโดยกองทัพญี่ปุ่นในระหว่างการผนวกคาบสมุทรเกาหลีเข้าเป็นของญี่ปุ่น กองทัพญี่ปุ่นทำสงครามเพื่อครองโลก โดยเริ่มจากปี 1937 ด้วยสงครามจีน-ญี่ปุ่นและสิ้นสุดเมื่อปี 1945 ด้วยการพ่ายแพ้ฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง ชีวิตมากมายเหลือคณานับ สูญสิ้นไปในช่วงเวลาดังกล่าว

หญิงสาวที่ถูกจับตัวไปเป็นหญิงปลอบขวัญ (image cr. : www.womanofchina.cn)

ในจำนวนผู้หญิงและเด็กนับหมื่นนับแสนคนนั้น มีเพียง 46 คนเท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่ (ณเวลาที่เขียนหนังสือเล่มนี้) เพื่อบอกเล่าให้โลกได้รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่พวกเธอถูกกักขัง ซึ่งรวมถึงเรื่องราวของการอยู่รอดชีวิตและการหาหนทางกลับบ้านของพวกเธอ เราไม่มีวันได้รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็กสาวซึ่งจากไปก่อนที่จะมีโอกาสบอกเล่าให้โลกได้รับรู้ว่าพวกเธอต้องทนทุกข์ทรมานอย่างไร หลายคนตายในต่างแดนก็โดยที่ครอบครัวของพวกเธอไม่เคยได้รับรู้เรื่องราวน่าสลดใจเช่นเดียวกับเอมิ”

แมรี ลินน์ แบรตช์ พูดถึงวัตถุประสงค์ของการเขียนหนังสือเล่มนี้

“ฉันเดินทางไปกรุงโซลในเดือนมีนาคม 2016 เพื่อเยี่ยมชมอนุสาวรีย์สันติภาพเป็นครั้งแรกและอาจเป็นครั้งสุดท้าย เป็นการจารึกเป็นระยะทางครึ่งค่อนโลกเพื่อไปดูสัญลักษณ์อันหมายถึงการล่วงละเมิดทางเพศในสงครามที่ผู้ตกเป็นเหยื่อไม่ได้มีเพียงผู้หญิงและเด็กสาวเกาหลีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้หญิงและเด็กสาวในที่อื่นทั่วโลก เช่น ยูกันดา เซียร์ราลีโอนรวันดา เมียนมา ยูโกสลาเวีย ซีเรีย อิรักอัฟกานิสถาน และ ปาเลสไตน์ รายชื่อของผู้หญิงที่ต้องทุกข์ทรมานจากการถูกข่มขืนในช่วงสงครามมีจำนวนมากมาย และจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นไปอีก หากเราไม่เอ่ยถึงความน่าสลดใจของผู้หญิงในช่วงสงครามบนหน้าหนังสือประวัติศาสตร์ รำลึกถึงความโหดร้ายต่อผู้หญิงในพิพิธภัณฑ์และสร้างอนุสาวรีย์ เช่น รูปปั้น เพื่อจดจำผู้หญิงและเด็กสาวที่เราสูญเสียไป”

Photo Cr. : NEWS1/Reuters

เกาหลีใต้และญี่ปุ่นบรรลุ “ข้อตกลง” เมื่อเดือนธันวาคม 2015 เกี่ยวกับประเด็นหญิงบำเรอและทั้งสองประเทศหวังที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งเป็นการถาวรเพื่อฟื้นฟูสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศทั้งสองเช่นเดียวกับโมริโมโตะญี่ปุ่นยื่นข้อเสนอแก่เกาหลีใต้ หนึ่งในข้อตกลงคือการย้ายรูปปั้นอนุสาวรีย์สันติภาพที่ตั้งอยู่บนดินแดนเอกชนหน้าสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงโซลออกไป รูปปั้นนี้สร้างขึ้นเพื่อแสดงถึงการชุมนุมทุกวันพุธครั้งที่ 1,000 ในปี 2011 เพื่อเรียกร้องให้ญี่ปุ่นขอขมา การย้ายรูปปั้นนี้ถือเป็นก้าวแรกของการปฏิเสธประวัติศาสตร์ผู้หญิงของเกาหลีใต้ โดยญี่ปุ่นหวังจะลบล้างความด่างพร้อยของประวัติศาสตร์การใช้ทาสทางเพศในสงครามไปอย่างง่ายๆ ราวกับการทารุณกรรมนั้นไม่เคยเกิดขึ้นและหญิงสาวกว่า 200,000 คนไม่ได้ตายท่ามกลางความน่ารันทดที่ทำให้ใจแตกสลาย

White Chrysanthemum-เบญจมาศสีเลือด” เป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลมากมาย

  • Winner of the Writers’ Guild of Great Britain Best First Novel Award ประเทศอังกฤษ
  • Prix coup de cœur Saint-Maur en Poche 2018
  • The 2019 Waverton Good Read Award
  • และเข้ารอบสุดท้ายของการประกวดหนังสือ The 2019 Dayton Literary Peace Prize

อ่านประวัติศาสตร์คาวโลกีย์ ทาสกามสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ในเล่มนี้ และคุณจะตอบตัวเองได้ว่าประวัติศาสตร์ครั้งนี้ควรได้รับการชำระหรือไม่

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ คลิกที่นี่

https://www.sanskritbook.com/category/story/

 

« แฮเนียว…ผู้หญิงแห่งท้องทะเล
ทาสกาม สงครามโลกครั้งที่ 2 »