ห้องสมุดจิ๋วในตู้โทรศัพท์ลอนดอน 25 พฤษภาคม 2020 – Posted in: People & Places

เมื่อตู้โทรศัพท์สีแดงที่เป็นดังสัญลักษณ์ของกรุงลอนดอนมานานเกือบศตวรรษ ถูกปลดระวางจากการรับใช้คู่สนทนา แต่สามารถนำมาทำประโยชน์ได้มากกว่าแค่จุดแลนด์มาร์กให้นักท่องเที่ยวได้เช็คอิน เมื่อมีคนหัวใสนำมาทำเป็นห้องสมุดจิ๋วที่ภายในอัดแน่นไปด้วยหนังสือน่าอ่านมากมาย

สภาพตู้โทรศัพท์ลอนดอนที่ถูกปลดระวาง (Image cr. : nytimes.com)

ภายใต้สองคำถามที่ท้าทาย คือ ทำอย่างไรจึงจะให้ชาวลอนดอนหันมาอ่านหนังสือมากขึ้น กับ ตู้โทรศัพท์ที่ตกยุคไปแล้วจะมาทำอะไรให้เป็นประโยชน์ นั่นจึงเป็นที่มาของห้องสมุดในตู้โทรศัพท์ที่ชื่อเล่นว่า Red Box หรือชื่อจริงว่า “Lewisham Micro Library” กลายเป็นห้องสมุดประจำชุมชนบร็อคลีย์ (Brockley) ในย่านเลวิชแชม (Lewisham) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอน

เมื่อยืมหนึ่งเล่ม ก็นำมาใส่แทนที่ไว้หนึ่งเล่ม ระบบง่ายๆ ที่ใช้ความเชื่อใจเป็นหลัก (Image cr. : mirror.co.uk)

ห้องสมุดขนาดเล็กในตู้โทรศัพท์สีแดงซึ่งตั้งอยู่ตรงโลมพิทฮิลล์ (Loampit Hill) และถนนไทรวีท (Tyrwhitt Road) เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2013 วิธีใช้บริการก็ไม่ยาก เพียงเดินเข้ามาในห้องสมุดแล้วกวาดสายตาหาหนังสือที่อยากอ่านแล้วหยิบออกไป 1 เล่ม โดยผู้ยืมต้องนำหนังสือมาใส่ไว้แทนที่ 1 เล่ม ก็เป็นอันใช้ได้ ห้องสมุดนี้อาศัยความเชื่อใจ ไม่มีบรรณารักษ์คอยดูแล แต่ถ้าชั้นหนังสือพัง คนในชุมชนจะช่วยกันซ่อม

เซบาสเตียน แฮนด์ลีย์ ผู้ชุบชีวิตให้ตู้โทรศัพท์กลายเป็นห้องสมุด (Image cr. : londonist.com)

เซบาสเตียน  แฮนด์ลีย์ (Sabastian  Handley) ผู้ทำหน้าที่เนรมิตชั้นวางหนังสือใส่ตู้ ปูพรม และติดไฟตรงเพดานกล่าวกับสื่อที่มาสัมภาษณ์ว่า “ห้องสมุดในห้องตู้โทรศัพท์แบบนี้น่าจะมีครั้งแรกในปี 2009 และนี่ก็ไม่ใช่ไอเดียของผม ขอยกเครดิตให้กับชุมชนบร็อคลีย์ ผมเพียงแต่เอาชั้นหนังสือเข้ามาใส่” ชายหนุ่มกล่าวในฐานะที่เป็นหนึ่งในทีมอาสาสมัครที่ช่วยลงแรงทำให้ตู้โทรศัพท์สีแดงสุดคลาสสิค กลายเป็นห้องสมุดท้องถิ่น ด้วยงบประมาณการซื้อตู้และปรับปรุงตกแต่งภายในงบประมาณ 500 ปอนด์ (ประมาณ 2 หมื่นบาท) และเกิดเป็นกระแสขึ้นมา เมื่อมีคนค้นพบใน Google Maps และ Four Square จากนั้นจึงเกิดห้องสมุดในตู้โทรศัพท์สีแดงอีกแห่งตรงหัวถนนวิคแฮมเพื่ออุทิศให้กับหนังสือเด็กล้วนๆ

แต่จริงๆ แล้วห้องสมุดในตู้โทรศัพท์สีแดงเริ่มมีครั้งแรกในปี 2009 ในย่านเวสต์เบอรี เนื่องจากสภาท้องถิ่นลดงบประมาณสำหรับห้องสมุดเคลื่อนที่ในพื้นที่ จากนั้นก็มีห้องสมุดในตู้โทรศัพท์สีแดงกระจายอยู่ในลอนดอนจากย่านซอมเมอร์เซ็ตถึงเดอร์บีไชร์

ในยามค่ำคืน หนอนหนังสือก็ยังมาหาหนังสืออ่านในห้องสมุดประจำชุมชน (Image cr. : nytimes.com)

โครงการนี้อาจจะไม่ทำให้ชาวลอนดอนลุกขึ้นมาอ่านหนังสืออย่างมีนัยยะ แต่เสียงตอบรับด้านบวกของคนในชุมชนที่พึงพอใจกับการมีห้องสมุดใกล้บ้าน อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมตู้โทรศัพท์สีแดงแห่งกรุงลอนดอน ผลงานการออกแบบของกิลเบิร์ต  สก็อต (Gilbert  Scott) รุ่น K6 ที่รับใช้ชาวลอนดอนตั้งแต่ปี 1935 ให้คงความคลาสสิกตลอดกาล ก็นับได้ว่าโครงการนี้มีความสำเร็จอย่างงดงาม

อ้างอิง

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ คลิกที่นี่

https://www.sanskritbook.com/category/story/

The Godmother เมื่อผู้หญิงกลายเป็นหัวหน้ามาเฟีย

Biblioburro ห้องสมุดบนหลังลา ที่ประเทศโคลอมเบีย

แมนซานาร์ ฝันร้ายของชาวอเมริกันสายเลือดญี่ปุ่น

 

 

« จิ๊กซอว์ตัวสำคัญในเหตุการณ์กวาดต้อนชาวยิวใจกลางกรุงปารีส
The Godmother เมื่อผู้หญิงกลายเป็นหัวหน้ามาเฟีย »