มัดเท้า…สุขสมบนความปวดร้าว? 16 มกราคม 2020 – Posted in: People & Places

เหตุใด เท้าที่มัดจนเสียรูป จึงนำความสุขมาสู่่คู่สมรส ทั้งที่เจ้าของเท้าแทบจะเดินเหมือนคนพิกลพิการ

“เท้าดอกบัว” คือรูปทรงของเท้าที่ผ่านการบีบรัดจนนิ้วเท้าหักและกระดูกเสียรูป ซึ่งเป็นประเพณีที่นิยมกันในผืนแผ่นดินจีนนับแต่อดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่สตรีในสังคมชั้นสูง ทว่ารูปเท้าที่ทำให้เจ้าของเดินไม่ถนัดนี้ กลับนำมาซึ่งความสุข สมหวัง จนทำให้การมัดเท้าแพร่หลายในสังคมจีนเป็นเวลาหลายร้อยปี

Image cr. : www.pinterest.com/qiuzig

ย้อนหลังไปช่วงศตวรรษที่ 10 สมัยราชวงศ์ซ่ง มีหลักฐานบ่งบอกว่าการมัดเท้าหญิงสาวชาวจีนได้รับความนิยมแพร่หลายก็จริงอยู่ แต่ประเพณีมัดเท้าให้เหลือขนาดเล็กเพียงสามนิ้ว รูปทรงคล้ายดอกบัวตูมซึ่งเรียกขานกันโดยทั่วไปว่า “บัวทองสามนิ้ว” นั้น มาเกิดขึ้นในภายหลัง และได้รับความนิยมแพร่หลายจนถึงศตวรรษที่ 19 พบว่าหญิงชาวจีนร้อยละ 40-50 ถูกมัดเท้า ส่วนหญิงที่มาจากครอบครัวชั้นสูงซึ่งเป็นหญิงสาวชาวฮั่นต่างมัดเท้ากันทุกคน หรือร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มไม่เว้นสักราย

Image cr. : https://cvltnation.com/lotus-feet-foot-binding-photos

หนทางสู่ความงามอันผิดแผกและกดขี่เช่นนี้ นับว่าเป็นการปูทางหญิงสาวให้ไปสู่การเป็นคุณนายของตระกูล ผลของการมัดเท้าทำให้เดินไม่สะดวก ทำงานหนักในไร่นาไม่ได้ เธอจึงต้องทำหน้าที่ให้กำเนิดบุตรชาย และคอยเชิดหน้าชูตาสามีและวงศ์ตระกูลเท่านั้น ซึ่งในหนังสือเรื่อง “Snow Flower and the Secret Fan” ผลงานของลิซ่า ซี นักเขียนชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ซึ่งสำนักพิมพ์สันสกฤตนำมาแปลภาษาไทยในชื่อ “จดหมายลับไป่เหอ” ได้สะท้อนแง่มุมซ่อนเร้นของวัฒนธรรมจีนได้อย่างละเมียดละไม โดยเจาะลึกเรื่องประเพณีการมัดเท้าที่ผู้เขียนใช้เวลาในการลงพื้นที่จริง เธอเดินทางไปยังมณฑลหูหนาน ณ อำเภอเจียงหย่งซึ่งห่างไกลและทุรกันดาร  ไปสัมผัส สูดดม พูดคุย สัมภาษณ์เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวอย่างลึกซึ้งที่คนในยุคปัจจุบันไม่อาจเข้าถึง คุณย่าหยาง ฮว่านอี้ วัย 96 ที่เธอไปหาและสอบถามเรื่องราวการมัดเท้าที่คุณย่าประสบด้วยตัวเอง ความจำของหญิงชราวัยเกือบร้อยปียังแจ่มชัด

“คุณย่าสวมรองเท้าแตะแบบเด็ก ใช้กระดาษยัดตรงนิ้วเท้าเพื่ออุดช่องว่างเหมือนไป่เหอในตอนจบ หลายต่อหลายบรรทัดในหนังสือเล่มนี้มาจากชีวิตจริงๆ ของคุณย่าฮว่านอี้” ลิซ่า ซี บันทึกไว้ท้ายเล่มของหนังสือเรื่องนี้

การแสดงความรักของแม่อย่างคนโบราณ

ไป่เหอคือตัวละครสำคัญของเรื่อง เธอเป็นภาพสะท้อนของหญิงสาวที่เติบโตขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งในสังคมชาวจีนเผ่าเย้านั้นก็ไม่ต่างไปจากสังคมชาวจีนในทุก ๆ พื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านผู้ทรงอิทธิพลในสังคมก็จะหนีไม่พ้นซินแส หมอดู แม่สื่อแม่ชัก ที่คอยทำหน้าที่สอดส่องเด็กๆ ไปตามหมู่บ้านเพื่อทำนายทายทักดวงชะตาเมื่อเติบใหญ่ หากเด็กหญิงคนใดมีโหวงเฮ้งที่จะนำความมั่งคั่งมาสู่ครอบครัว แม่สื่อจะบอกวันเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นมัดเท้า 

“เด็กคนนี้น่ารักมาก แต่บัวทองสามนิ้วนั้นสำคัญต่อชีวิตยิ่งกว่าหน้าสวย ๆ เป็นไหนๆ ใบหน้างามเป็นของขวัญที่สวรรค์ประทาน แต่เท้าเล็กจะเปลี่ยนสถานะทางสังคมได้”

Image cr. : https://vocal.media/filthy/sex-in-chinese-culture

นั่นจึงเป็นที่มาของความพยายาม และความอดทนที่ไป่เหอจำต้องยอมอย่างเลี่ยงไม่ได้ นับจากวันแรกเริ่มมัดเท้า

“ฉันพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้พ่อแม่สมหวังในตัวฉัน รวมไปถึงการมัดเท้าให้ได้เท้าที่เล็กที่สุดในอำเภอ แม้จะต้องทนกับกระดูกหักร้าวก็ตาม เพื่อให้เท้าได้รูปสวยงาม…การมัดเท้าไม่เพียงแต่เปลี่ยนรูปเท้าของฉันไปเท่านั้น หากยังได้เปลี่ยนบุคลิกภาพของฉันไปโดยสิ้นเชิงด้วย”

“จะว่าไปแล้วไม่มีอะไรรับประกันว่าเท้าของฉันจะถูกมัดจนได้รูปเป็นบัวทองสามนิ้ว…แล้วแทนการได้รางวัลงาม ฉันก็ต้องเดินกะเผลกด้วยตอเท้ากุดๆ กางแขนขณะเดินเพื่อทรงตัวเหมือนแม่”

เตรียมการก่อนมัดเท้า

เริ่มต้นจากการดูลักษณะกระดูกและรูปเท้าให้พร้อมต่อการมัด ซึ่งโดยส่วนใหญ่เด็กหญิงชาวจีนในชนบทจะเริ่มมัดเท้าตอนอายุได้ 6 ขวบ นอกเสียจากว่าเด็กหญิงเติบโตช้ากว่าวัยอันควร อาจจะต้องรอไปจนถึง 7 ขวบ เมื่อพร้อมแล้วคนที่บ้านก็ต้องเตรียมร่างกายด้วยอาหาร เตรียมผ้ามัดเท้าให้มากพอ และเตรียมเย็บรองเท้าไว้รอเพื่อสวมใส่ในเวลาที่เท้าเล็กลงแล้ว

“แม่กับอาสะใภ้เริ่มตระเตรียมงาน เย็บผ้ามัดเท้าเพิ่มขึ้น และให้เรากินเกี๊ยวไส้ถั่วแดงเพื่อช่วยให้กระดูกของเราอ่อนตัว และเป็นเคล็ดด้วยว่าเท้าที่มัดแล้วของเราจะกลมกลึงสวยงามและเล็กกะทัดรัดเช่นเกี๊ยว”

ลักษณะเท้าที่ดีย่อมมีผลต่อการแต่งงานในอนาคต ในหนังสือ “จดหมายลับของไป่เหอ” ได้ระบุลักษณะของเท้าที่ดีไว้ได้อย่างละเอียดว่า

Image cr. : https://www.scmp.com/culture/arts-entertainment/article/2135927/foot-binding-photos-chinese-women-tiny-shoes-they-wore

“ขณะนั้นฉันรู้เพียงว่า การมัดเท้าจะทำให้ฉันพร้อมสำหรับการแต่งงานมากขึ้น อันจะนำฉ้นเข้าหาความรักและปิติสูงสุดในชีวิตหญิง นั่นคือ ให้กำเนิดลูกชาย เพื่อจุดหมายนั้นฉันมุ่งหวังจะได้เท้าน้อยๆ ที่งามพร้อมด้วยลักษณะเจ็ดประการ คือ แคบ เล็ก ตรง แหลม โค้ง และต้องอ่อนนุ่ม มีกลิ่นหอม ในลักษณะท้ั้งหมดนี้ความยาวสำคัญที่สุด ไม่เกินเจ็ดเซนติเมตรหรือสามนิ้วได้จะสวยที่สุด รูปทรงตามมาเป็นอันดับสอง เท้าที่สวยต้องมีรูปร่างเหมือนดอกบัวตูม ส้นเท้าต้องเต็มและกลม ค่อย ๆ เรียวเล็กไปยังปลายเท้า น้ำหนักทั้งหมดจะตกอยู่ที่หัวแม่เท้า นั่นหมายความว่าต้องมัดจนนิ้วเท้าและกระดูกหลังเท้าหักเสียก่อน แล้วจึงดัดให้งอกลับไปชนกับส้นเท้า จนท้ายที่สุดจะเหลือช่องเล็กๆ ระหว่างปลายเท้ากับส้นเท้าในขนาดที่พอจะซ่อนเหรียญเงินในลักษณะตั้งฉากได้เท่านั้น”

ความทรมานจากการมัดเท้า

คนสมัยนี้ถูกรองเท้ากัดแม้เพียงเล็กน้อย ยังปวดแสบปวดร้อนจนแทบจะทนไม่ได้ ทว่าเด็กหญิงชาวจีนกลับต้องทนทุกข์ทรมานเจียนตายกว่าเท้าจะได้รูปทรงสมใจและรายที่โชคไม่ดีแผลที่เกิดจากการมัดเท้าอาจติดเชื้อและถึงขั้นตายได้ ซึ่งเกิดขึ้นจริงๆ ผู้เขียนได้ถ่ายทอดความเจ็บปวดของไป่เหอและเด็กหญิงลูกพี่ลูกน้องของเธอในช่วงเริ่มมัดเท้าว่า

“เราทั้งสามคนเกือบเป็นง่อยจากความเจ็บปวดรวดร้าวทางกาย…เสมือนได้รับการยกโทษประหารชีวิตทีเดียวกับการได้นอนแผ่ลง…แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความเจ็บปวดชนิดใหม่ก็เกิดขึ้นกับเรา เท้าของเราร้อนราวกับถูกสุมอยู่กลางเตาไฟร้อนแรง”

“พอวันที่สี่ เราแช่เท้าไว้ในถังน้ำร้อน แก้ผ้ามัดออก แม่และอาตรวจเล็บเท้าของเรา เฉือนหนังที่ด้านหนาทิ้ง ขัดผิวที่ตายออก พอกสารส้มและพืชหอมเพื่อดับกลิ่นเหม็นเน่าจากการเน่าเปื่อยของเนื้อหนัง แล้วเอาผ้ามัดใหม่ คราวนี้ยิ่งแน่นกว่าเดิม เราอยู่ในสภาพเดิมนี้ทุกวัน ทำเหมือนกันทุกสี่วัน เปลี่ยนรองเท้าคู่ใหม่ทุกสองสัปดาห์ แต่ละคู่ก็จะเล็กลงกว่าเดิม”

และแล้ววันที่รอคอยก็มาถึง…

“วันหนึ่งขณะที่กำลังเดินอยู่ในห้อง ฉันได้ยินเสียงแตกหักของอะไรบางอย่าง นิ้วเท้าของฉันหักไปนิ้วหนึ่ง…ตกค่ำนิ้วเท้าทั้งแปดที่ต้องการให้หักก็ล้วนหักหมด แต่ฉันยังคงถูกบังคับให้เดินต่อ ทุกก้าวที่ย่าง จะรู้สึกได้ว่านิ้วเท้าหย่อนห้อยอยู่ในรองเท้า ข้อต่อที่เคยติดแน่น บัดนี้หลุดออกและสร้างความปวดร้าวทรมานแสนสาหัส”

ซึ่งความทรมานอันแสนสาหัสนี้ยากที่จะมีใครเชื่อว่านี่คือการกระทำด้วยความรัก แต่แม่ก็ได้สำทับกับไป่เหอว่า

“เจ้าจะงามได้ต่อเมื่อได้ผ่านความเจ็บปวด แม่ห่อ แม่มัด แต่เจ้าเป็นผู้รับรางวัล”

Image cr. : www.sothebys.com/en/auctions/ecatalogue/2013/fine-chinese-ceramics-works-of-art-l13211/lot.434.html

การเดินที่ไม่ปกติหรือเดินแบบสะเงาะสะแงะ กลายเป็นท่าเดินที่กระตุ้นกำหนัดของฝ่ายชาย อาจจะเป็นได้ว่ารองเท้าคู่เล็กๆ ที่โผล่พ้นมาจากชายกระโปรงชวนให้จินตนาการว่าเมื่อถอดรองเท้าออกมาจะเป็นเช่นไร อีกทั้งร่องลึกตรงฝ่าเท้ายังเป็นบ่อเกิดความหฤหรรษ์รัญจวนใจให้กับจินตนาการของฝ่ายชาย รองเท้าดอกบัวทองคำคู่เล็กกระจิดริดนั้นนอกจากแสดงถึงฝีมือในการเย็บปักถักร้อยแล้ว ยังมีหลักฐานบันทึกว่าในสมัยราชวงศ์หยวนมีชายบางคนที่นิยมใช้รองเท้าคู่จิ๋วในการดื่มกิน จนเกิดสำนวน “ซดบัวทอง” 

Image cr. : www.lipstickalley.com

เพราะความงามในอุดมคติเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ในปี ค.ศ.1902 พระนางซูสีไทเฮาได้ออกกฎห้ามมิให้สตรีมัดเท้าอีกต่อไป ทว่ามีคนส่วนน้อยที่ปฎิบัติตาม จนต้องยกเลิกกฎหมายนั้นไปในที่สุด จนกระทั่งในปี ค.ศ.1911 เกิดการปฏิวัติซินไฮ่เพื่อโค่นล้มราชวงศ์ชิงซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองจีน ในช่วงเวลานั้นเองที่การรัดเท้าค่อยๆ หมดไป จนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1937 ที่เกิดสงครามต่อต้านญี่ปุ่น หญิงชาวจีนที่มัดเท้าจึงได้รับรู้ถึงความยากลำบากในการหนีเอาตัวรอด ส่งผลให้ประเพณีมัดเท้า คงเหลือเพียงเรื่องเล่าในอดีตที่ยังสร้างความฉงนปนรัญจวนใจอยู่เสมอ

ไม่เพียงแต่ประเพณีการมัดเท้าเท่านั้น แต่ในหนังสือ “Snow Flower and the Secret Fan-จดหมายลับไป่เหอ” ยังสะท้อนให้เห็นแง่มุมซ่อนเร้นในวัฒนธรรมจีนก่อนเปลี่่ยนมาสู่ยุคปัจจุบัน เป็นเสมือนภาพจิตรกรรมผืนใหญ่ซึ่งแต่งแต้มสีสันด้วยปลายพู่กันได้อย่างวิจิตร

หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าในความเจ็บปวดที่ถูกร้อยเรียงเป็นตัวอักษรในหนังสือเล่มนี้ ได้ถ่ายทอดความหมายอันลึกซึ้งและคุณค่าเชิงวัฒนธรรมไว้อย่างมากมาย 

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ คลิกที่นี่

https://www.sanskritbook.com/category/story/

กองทหารนางบำเรอแห่งโสมแดง

เพราะเคยเป็นเด็กจึงมีวันนี้

ซากานซาร์…เทศกาลปีใหม่ของชาวมองโกล

 

« สงครามในนามปฏิวัติวัฒนธรรม
เพราะเคยเป็นเด็กจึงมีวันนี้ »