มองโกเลียหลังม่านเหล็ก 25 พฤศจิกายน 2019 – Posted in: People & Places – Tags: , ,

มองโกเลียเป็นดินแดนเก่าแก่ พอๆ กับที่เป็นประเทศเกิดใหม่ เหตุที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะมองโกเลียผ่านช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านมาหลายยุค หลายสมัย เคยเกรียงไกรที่สุดในช่วงคริสตศตวรรษที่ 13 ภายใต้การนำของเจงกีสข่าน จักรพรรดินักรบผู้ก่อตั้งจักรวรรดิมองโกล บุคคลที่เพียงถูกเอ่ยนามก็ทำให้ฝูงชนครั่นคร้ามขนหัวลุก ความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิมองโกลในยุคนั้นแผ่ขยายจากทะเลดำไปจรดมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่จีนตอนเหนือ

Photo cr. : www.journeyinmongolia.com/history/

ต่อมาไม่นานหลังเจงกีสข่านสิ้นพระชนม์ จักรวรรดิมองโกลอ่อนแอลง มองโกเลียจึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง โดยลำดับ จนได้รับเอกราชจากจีน เมื่อปี ค.ศ.1921 จากการช่วยเหลือของสหภาพโซเวียตซึ่งชาวมองโกลยกให้เป็น “พี่เบิ้ม”

…69 ปีที่มองโกเลียอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตจะว่าไปก็ไม่นานนัก ราวหนึ่งชั่วอายุคนเห็นจะได้ แต่ก็นานพอที่จะทำให้ “มองโกเลีย” ซึมซับรับอิทธิพลของโซเวียตมามากมาย แต่ใครเล่าจะบรรยายให้เราได้รับรู้ถึงบรรยากาศของมองโกเลียในช่วงเวลานั้น ได้ดีเท่ากับคนที่เติบโต ใช้ชีวิต และมีประสบการณ์ด้วยตนเอง

Photo cr. : https://iq.hse.ru บรรยากาศตลาดนัดในอูลานบาตอร์ ปี 1972

“โอ๊กน่า  แรมเซย์” ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “MONGOL-มองโกล” เธอเกิดและโตในกระโจม (กีร์) ที่เมืองอูเลียสไท ประเทศมองโกเลียในช่วงทศวรรษ 1980’s ในยุคนั้นคนกรุงเทพฯ เริ่มรู้จักคอมพิวเตอร์ฮาตาริ มีสถานีวิทยุในท์สปอตไว้ฟังเพลงนักร้องฝรั่งชื่อดัง อย่าง บอย จอร์ช , เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่, เดวิด โบวี่ ฯลฯ แต่เธอยังนอนในกีร์ กินเนื้อมาร์เมิต (สัตว์ชนิดหนึ่งคล้ายกระรอกที่มีขนาดใหญ่) และดื่มน้ำปัสสาวะของแม่เป็นยาแก้ไข้ โตขึ้นมาจึงได้รู้ว่าพ่อแม่ของเธอต้องทำงานหนักขนาดไหนเพื่อแลกกับอาหารมาให้ลูก ๆ ได้อิ่มท้อง ดังตอนหนึ่งที่เธอเล่าว่า

Photo cr. : https://iaunrc.indiana.edu

“ชีวิตยุคสังคมนิยมนั้นยากลำบาก หลายครอบครัวต้องดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด ตั้งแต่เช้าตรู่ พวกเราต้องเข้าแถวบริเวณด้านนอกของป้อมไม้ขนาดเล็กซึ่งอยู่บนเนินเขาขนาดเล็กใจกลางเมือง เพื่อรอรับการปันส่วนเนื้อสัตว์และนม ถึงแม้ครอบครัวที่มีปศุสัตว์จะมีนมและเนื้อสัตว์แต่เราไม่อาจขายได้ตามใจชอบ เพราะจะถูกถือว่าเป็นพวกทุนนิยมซึ่งผิดกฎหมาย รัฐและเทศบาลท้องถิ่นจะเป็นผู้ให้ทุกอย่าง ชาวบ้านทุกคนจะได้ส่วนแบ่งอาหารและนมเท่า ๆ กัน แต่ทั้งเนื้อสัตว์และนมมีไม่เพียงพอในระบบนี้ ชั้นวางสินค้าตามร้านค้าว่างเปล่า รัฐบาลมองโกเลียเริ่มแจกบัตรปันส่วนตามจำนวนสมาชิกในครอบครัว บัตรนี้ทำให้ครอบครัวได้รับแจกแป้ง น้ำตาล ข้าว ไม้ขีดไฟ ชาอัดแท่ง พ่อแม่ของฉันได้งานดีและทำงานเต็มเวลาทั้งสองคน พวกเราจึงมีกินอย่างอุดมสมบูรณ์หรือถ้าหากเราต้องดิ้นรน พ่อแม่ก็ไม่ยอมให้ฉันรับรู้”

Photo cr. : https://www.cam.ac.uk ภาพเด็กนักเรียนชาวมองโกลในช่วงปี 1950-1960 จากโครงการ the Oral History of Twentieth Century Mongolia project, University of Cambridge

นี่คือสภาพความเป็นอยู่ของชาวมองโกลภายใต้การปกครองในระบอบสังคมนิยมตามแบบสหภาพโซเวียต ที่มีสภาพแวดล้อม การดำเนินชีวิต ตลอดจนวิธีคิดและระบบการศึกษาเช่นเดียวกับโซเวียต ดังใจความตอนหนึ่งที่เธอเล่าว่า

“เราไม่ได้รับอนุญาตให้เอ่ยถึงเลนิน โดยไม่มีคำว่า “ครู” นำหน้า โรงเรียนของเราเต็มไปด้วยคำขวัญสังคมนิยม ที่แปลมาจากภาษารัสเซีย…”

“ในเดือนพฤษภาคม เราเคยเดินสวนสนามในวันแรงงานทุกปี เพื่อฉลองการเคลื่อนไหวของชนชั้นแรงงานระหว่างประเทศ และในเดือนตุลาคม เราจะฉลองการที่บอลเชวิคเรืองอำนาจ หิมะแรกของมองโกเลียจะตกในเดือนตุลาคม ทุกโรงเรียน ทุกสถานรับเลี้ยงเด็ก และทุก ๆ คน ต้องมาเดินสวนสนามผ่านจัตุรัสเล็ก ๆ ในอูเลียสไท และโบกมือให้คนสำคัญของท้องถิ่น ที่ยืนตรงที่ฝังศพจำลอง ที่ย่อขนาดมาจากมอสโก ข้าง ๆ ธงคอมมิวนิสต์”

Photo cr. : www.themoscowtimes.com/

ใครเล่าจะกล้าคิดว่า อยู่มาวันหนึ่ง ความยิ่งใหญ่ของประเทศหมีขาวสหภาพโซเวียตจะถึงกาลล่มสลาย ในปี ค.ศ. 1980 เมื่อนายมิคาอิล  กอร์บาชอฟ ประธานาธิบดีสหภาพโซเวียตคนสุดท้าย ได้ดำเนินนโยบายกลาสนอสต์ (Glasnost) ควบคู่กับขบวนการปฏิรูปการเมืองเปเรสตรอยกา (Perestroika) เขาคือบุคคลสำคัญที่ปลดม่านเหล็กอันน่าสะพรึงกลัวของสหภาพโซเวียตลง คงเหลือไว้เพียงฉากอันตระการตาของละครโรงใหญ่ ที่เปิดโอกาสให้ประเทศน้องใหม่ มาโลดแล่นบนเวทีโลกอีกไม่ต่ำกว่า 14 ประเทศ รวมทั้งยังมอบเอกราชให้กับประเทศมองโกเลียในปี พ.ศ.1990 (พ.ศ.2533) อีกด้วย

โอ๊กน่า  แรมเซย์ เล่าบรรยากาศของมองโกเลียยุคประชาธิปไตยว่า

Photo cr, : https://www.globalpartnership.org/country/mongolia

“เมื่อระบบสังคมนิยมของโซเวียตล่มสลายในปี 1991 รัฐบาลมองโกเลียได้นำ “อุยกูร์” ภาษาดั้งเดิมกลับมาสอนใหม่ แม่ของฉันยินดีและพึงพอใจอย่างยิ่ง ที่มีการสอนภาษาพื้นเมืองในโรงเรียนอีกครั้ง เราใช้อักษรซึ่งอ่านในแนวตั้ง อ่านจากบนลงล่างจนถึงปี 1940 เมื่อผู้ปกครองสมัยสังคมนิยม สั่งเปลี่ยนภาษาทางการของมองโกเลีย มาใช้การเขียนพยัญชนะแบบซิริลลิกของรัสเซีย ซึ่งยังเป็นภาษาทางการของรัฐบาลมองโกเลียอยู่ถึงปัจจุบัน”

Photo cr. : https://www.worldstatesmen.org/Mongolia.htm พัฒนาการของธงมองโกเลีย

“ในช่วงที่มองโกเลียอยู่ในระบอบสังคมนิยม เราไม่ได้รับอนุญาตให้พูดถึงประเทศทุนนิยม ทุกอย่างเปลี่ยนไปหลังกอร์บาชอฟและนโยบายเปเรสตรอยก้าของเขา ซึ่งเป็นนโยบายเศรษฐกิจ สังคม ที่นำไปสู่ความล่มสลายของสหภาพโซเวียต ในช่วงปลาย 1980 เราเริ่มรู้จักตะวันตกและประเทศที่เรียกว่าพัฒนาแล้วมากขึ้น ตามโรงเรียนเริ่มเรียนภาษาต่างประเทศได้ ทั้งภาษาอังกฤษ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เยอรมันและฝรั่งเศส แทนรัสเซียซึ่งเป็นภาษาภาคบังคับ”

โอ๊กนา แรมเซย์ ภาพจาก youtube

โอ๊กน่า  แรมเซย์ จึงถือเป็นหนึ่งในผลผลิตสำคัญของประเทศมองโกเลียหลังได้รับเอกราช ภาษาอังกฤษกลายเป็นไกด์นำทางสำคัญที่ทำให้เธอโบยบินไปใช้ชีวิตในยุโรป และถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าภูมิใจอันเป็นภูมิหลังของเธอให้โลกได้รับรู้

“MONGOL-มองโกล” ผลงานของโอ๊กน่า  แรมเซย์ คือสะท้อนภาพชีวิตและวัฒนธรรมของชาวมองโกล ที่เธอบรรจงถ่ายทอดชีวิตจริงเป็นตัวหนังสือ ซึ่งทำให้ความทรงจำของประดินแดนที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่หลังม่านเหล็กของโซเวียต ได้ออกมาโลดแล่นอย่างมีชีวิต

อ่านเรื่องเต็มได้จากหนังสือเล่มนี้ คลิกสั่งซื้อได้ที่นี่

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ คลิกที่นี่

https://www.sanskritbook.com/category/story/

มองโกล ชีวิตใต้ผืนฟ้าอันเป็นนิรันดร์

ชะตากรรมญี่ปุ่นอพยพ

แฮเนียว…ผู้หญิงแห่งท้องทะเล

 

 

 

« วิธี Reset Password สำหรับสมาชิกเดิม
มองโกล ชีวิตใต้ผืนฟ้าอันเป็นนิรันดร์ »