ผู้แปรพักตร์…หันหลังให้แดนมาตุภูมิสู่อิสรภาพ 21 มีนาคม 2020 – Posted in: People & Places

เกาหลีเหนือตราหน้าพวกเขาว่าเป็น “ผู้แปรพักตร์” ในขณะที่เกาหลีใต้เรียกว่าพวกเขาว่า “ผู้ลี้ภัยทางการเมือง” หรือ “ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่” ที่อพยพหลบหนีความยากแค้นจากดินแดนเกาหลีเหนือมาสู่อิสรภาพใหม่ แต่จะให้พวกเขาลบเลือนความทรงจำแห่งแดนมาตุภูมิ หรือลืมสิ้นว่าเคยเป็นคนเกาหลีเหนือนั้นเป็นไปไม่ได้เลย

ภาพจำลองสถานการณ์การหลบหลีของชาวเกาหลีเหนือ ผ่านสะพาน “The Bridge of No Return” (ภาพจาก fastcompany.com)

การจากบ้านเพียงชั่วครั้งชั่วคราวยังทำให้เหงาบาดลึกจับขั้วหัวใจ แต่สำหรับชาวเกาหลีเหนือที่ตัดสินใจหลบหนีออกจากประเทศของตนเอง จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามแต่ พวกเขาจำต้องมีความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยว เพราะรู้ดีว่าเมื่อเดินหน้าไปแล้วจะไม่มีวันหันหลังกลับ คำว่า “ไปตายเอาดาบหน้า” จึงใช้ได้กับกรณีของผู้แปรพักตร์สัญชาติเกาหลีเหนือทั้งหลาย แต่ถึงแม้ว่าพวกเขาจะรับรู้ถึงความจริงข้อนี้ แต่ก็ยังมีหนุ่มสาวหลายคนที่ตัดสินใจหันหลังให้กับบ้านเกิดเมืองนอน

มีการหลบหนีจากเกาหลีเหนือตั้งแต่ช่วงที่ประเทศแยกออกเป็นสองฝ่ายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และภายหลังจากสงครามเกาหลียุติลงในราวปี ค.ศ.1953  จากนั้นเส้นขนานที่ 38 องศาเหนือกลายเป็นเส้นกั้นอาณาเขตอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ไม่เพียงแบ่งแยกพรมแดนของสองประเทศออกจากกันทางภูมิศาสตร์ หากยังแบ่งแยกความเชื่อ ความคิด อุดมการณ์ทางการเมือง แบ่งแยกวิถีชีวิตของชาวเกาหลีที่แต่เดิมเคยนับถือลัทธิขงจื้อออกจากกันอย่างสุดขั้ว โดยเกาหลีเหนือถูกเรียกว่า “โสมแดง” และเกาหลีใต้ได้ชื่อว่า “โสมขาว” พรมแดนทางการเมืองนี้ยังแบ่งแยกญาติสนิท มิตรสหายออกจากกัน ภายหลังจากการทำสัญญาหยุดยิง และแบ่งเกาหลีออกเป็นสองประเทศแล้ว “The Bridge of No Return” กลายเป็นสะพานประวัติศาสตร์ที่ประชาชนต้องเลือกว่าจะข้ามไปอยู่อีกฝั่งหนึ่งหรือไม่ และเมื่อข้ามไปแล้วก็จะไม่สามารถย้อนกลับมาได้อีกเลย หลายคนที่เคยพลัดพรากจากกันไปเมื่อครั้งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ต้องติดค้างอยู่ต่างแดน ในเขตของแต่ละฝ่าย กลับบ้านไม่ได้ หาญาติไม่เจอนับแสนคน

2 ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ คิม อิลซุง และ คิม จองอิล ในกรุงเปียงยาง (ภาพจาก www.pinterest.com/vicemag)

นับตั้งแต่ปี 1953 เป็นต้นมา ว่ากันว่ามีชาวเกาหลีเหนือราว 1-3 แสนคนได้ชื่อว่าเป็น “ผู้แปรพักตร์” และหลบหนีออกไปจากเกาหลีเหนือได้สำเร็จ โดยส่วนใหญ่หนีเข้าไปในประเทศจีนและรัสเซีย ในประเทศจีนมีตัวเลขประชากรสัญชาติเกาหลีเหนือที่นับได้อย่างไม่เป็นทางการ ราว 3-5 หมื่นคน พลเมืองที่หลบหนีออกมา 70% เป็นเพศหญิง เป็นเช่นนี้เพราะผู้ชายเกาหลีเหนือส่วนใหญ่ไปเป็นทหาร เหลือแต่ผู้หญิงที่ต้องดูแลครอบครัวและยังชีพอย่างแร้นแค้น พวกเธอจึงหนีไปหาอาชีพที่ดีกว่า ส่วนผู้ชายถ้าหากมีการหลบหนีมักจะเกิดจากความบีบคั้นทางการเมือง ปัจจุบันนี้ ประเทศจีนไม่สนับสนุนให้ชาวเกาหลีเหนือหลบหนีเข้ามาได้ง่ายดายดังแต่ก่อน หากพบเจอผู้หลบหนีก็จะถูกจับส่งตัวกลับไปยังเกาหลีเหนือ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีบาดหมางระหว่าง 2 ประเทศ

ผู้คนเดินทางไปเยี่ยมชมอนุสาวรีย์สองผู้นำที่ยิ่งใหญ่ “คิม อิลซุง” และ “คิม จองอิล” ในกรุงเปียงยาง วันจันทร์ที่ 15 เมษายน 2013 วันครบรอบวันเกิดคิม อิลซุง (AP Photo/Kyodo News)

เส้นทางในการหลบหนีหลักๆ คือลัดเลาะไปตามแนวชายแดนประเทศมองโกเลีย และเดินทางมายังประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นจุดหมายที่ผู้แปรพักตร์โปรดปราน มิใช่เพราะว่าไทยอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐานได้ แต่เป็นเพราะไทยมีความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ซึ่งมีกฎหมายรับรองพลเมืองเกาหลีเหนือ ล่าสุดอย่างกรณีที่มีชาวเกาหลีเหนือซึ่งประกอบด้วยผู้หญิงและเด็กรวม 8 คน เดินทางมายังจังหวัดบึงกาฬโดยจงใจให้เจ้าหน้าที่ไทยจับกุมเพื่อที่จะถูกส่งตัวไปยังเกาหลีใต้ เมื่อสอบถามได้ความว่าพวกเธอเดินทางมาออกจากเกาหลีเหนือเข้าไปยังประเทศจีนตอนบน แล้วลงมาที่มณฑลยูนนาน จากนั้นนั่งรถลงมายังสปป.ลาว แล้วนั่งเรือข้ามฝั่งมายังประเทศไทยที่บ้านโคกกล่อง จังหวัดบึงกาฬ

ฮยอนซอ ลี ผู้เขียนเรื่อง “หญิงใจเด็ด 7 ชื่อ” (ภาพจาก share.america.gov)

ฮยอนซอ ลี ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “The Girl with Seven Name” ซึ่งสำนักพิมพ์สันสกฤตได้นำมาแปลเป็นภาคไทยในชื่อว่า “หญิงใจเด็ด 7 ชื่อ” เป็นหนึ่งในผู้แปรพักตร์ที่หนีออกมาจากเกาหลีเหนือโดยมิได้ตั้งใจ สิ่งที่แตกต่างจากผู้แปรพักตร์คนอื่นคือเธอมาจากครอบครัวที่สุขสบายกว่าชาวเกาหลีเหนือโดยทั่วไป แต่ด้วยเหตุที่บ้านของเธอตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยาลู ซึ่งเป็นแม่น้ำสายแคบๆ ที่กั้นกลางระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือนั้นแคบขนาดที่สามารถขว้างก้อนหินไปยังฝั่งจีนได้อย่างสบาย คืนหนึ่งในเดือนธันวาคมปี 1997 เธอตัดสินใจข้ามไปยังประเทศจีนเพียงเพราะเธออยากเห็นสีสันความทันสมัยที่เคยแอบดูทางทีวี ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายในเกาหลีเหนือ เธอไม่คิดไม่ฝันเลยว่าการตัดสินใจครั้งนั้นจะผันเปลี่ยนชะตาชีวิตของเธอไปตลอดกาล เธอต้องพาตัวเองให้รอดในวัยเพียง 17 ปี และเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามถึง 7 ครั้ง ทุกวันนี้เธอเป็นกระบอกเสียงอันทรงพลังให้กับชาวเกาหลีเหนืออีกกว่า 24 ล้านคน ซึ่งไม่มีโอกาสรับรู้เลยว่าการเคลื่อนไหวของเธอทำให้คนทั่วโลกรับรู้ถึงความกดดันภายใต้ประเทศเกาหลีเหนือเพิ่มขึ้น

จัง จินซอง อดีตชนชั้นอภิสิทธิ์ในเกาหลีเหนือที่ภายหลังผันตัวเป็นผู้แปรพักตร์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “หลังฉากท่านผู้นำ” (ภาพถ่ายโดย Richard Cannon วันที่ 9 พ.ค.2014 จากเว็บไซต์ macleans.ca)

จัง จินซอง (Jang Jin-Sung) เป็นอีกหนึ่งผู้แปรพักตร์ที่เคยเป็นผู้ใกล้ชิดกับคิม จองอิล อดีตท่านผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ รับผิดชอบงานจารกรรมในเกาหลีใต้ เขาเคยมีชีวิตที่สะดวกสบาย ได้รับอภิสิทธิ์ในฐานะบุคคลพิเศษ ที่มีความมั่นคงก้าวหน้าอย่างไม่ต้องสงสัย แต่แล้ววันหนึ่งชีวิตของเขาก็ต้องป่นปี้เมื่อเขาทำแฟ้มเอกสารลับหาย และในเอกสารนั้นเป็นเรื่องราวเบื้องหลังการเปิดโปงตระกูลคิม การแย่งชิงอำนาจ นางบำเรอ ฯลฯ ทางเลือกเดียวที่เขามีอยู่คือต้องหนี! เขาได้เขียนถึงเส้นทางการหนี และเปิดเผยกลไกครอบงำประชาชนเกาหลีเหนืออย่างละเอียด ในหนังสือเรื่อง “Dear Leader : หลังฉากท่านผู้นำ” ที่ผู้สนใจศึกษาเรื่องเกาหลีเหนือไม่มีเล่มนี้ไม่ได้

KWAK MOON-WAN ผู้แปรพักตร์จากเกาหลีเหนือ และที่ปรึกษาทีมเขียนบทซีรีส์เรื่องดัง “Crash Landing on You” (ภาพจาก bbc.com)

ปัจจุบันมีผู้แปรพักตร์หลายคนหลบหนีได้สำเร็จและมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม ณ ประเทศเกาหลีใต้ บางคนกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง อย่างเช่น กวัก มูนวอน อดีตเจ้าหน้าที่ในหน่วยบัญชาการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ เขาได้พบกับเหตุการณ์บางอย่างในระหว่างการอารักขาผู้นำตระกูลคิม ซึ่งบีบคั้นให้เขาต้องหนีไปจากแผ่นดินแม่และครอบครัวของตัวเองเหมือนคนไม่มีหัวจิตหัวใจ เส้นทางชีวิตของเขาก็น่าสนใจ เพราะก่อนที่จะเข้าไปสังกัดกองทัพ เขาได้เรียนในสาขาการกำกับภาพยนตร์ ที่มหาวิทยาลัยศิลปะการแสดงและภาพยนตร์แห่งเปียงยาง ในปี 2018 มีคนแนะนำให้เขาได้รู้จักกับ ปัก จีอึน หัวหน้าทีมเขียนบทละครเรื่อง “Crash Landing on You” ที่ผลิตขึ้นเพื่อฉายทางช่อง Netflix โดยโครงเรื่องสร้างสถานการณ์ให้นางเอกซึ่งเป็นลูกสาวคนรวย บังเอิญเล่นร่มร่อนไปตกในเขตของเกาหลีเหนือ ตลอดทั้งเรื่องได้นำเสนอวิถีชีวิตของชาวเกาหลีเหนือได้อย่างสมจริง และโดยเฉพาะ “สหายผู้กอง” ซึ่งเป็นทหารเกาหลีเหนือก็มีบทบาทที่จับใจผู้ชมมาก เรื่องนี้ประสบความสำเร็จแบบถล่มทลายเพราะได้ที่ปรึกษาเป็นผู้แปรพักตร์ตัวจริงนั่นเอง

ชีวิตประจำวันของชาวเกาหลีเหนือในกรุงเปียงยาง (ภาพจาก steemit.com/photography/@abyadi)

ผู้แปรพักตร์เหล่านี้ ทำให้โลกมองเห็นเกาหลีเหนือได้อย่างลุ่มลึกจากมุมมองของคนในพื้นที่ แต่ใช่ว่าพวกเขาทำลงไปเพราะทรยศหมดรักในบ้านเกิดเมืองนอนก็หาไม่ แต่ด้วยความที่ทั้งสองประเทศที่ถูกแบ่งแยกจากกันด้วยความเชื่อและระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน นั่นจึงเป็นความปวดร้าวของผู้แปรพักตร์ทุกคน ไม่มีใครอยากได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่หักหลังต่ออุดมการณ์และบ้านเกิด แต่เพื่อแลกกับชีวิตที่มีอิสรภาพแล้ว นี่คือความเจ็บปวดที่คุ้มค่าสำหรับพวกเขา

ศึกษาเรื่องเกาหลีเหนือแบบเจาะลึกถึงแก่น ได้จากกลุ่มหนังสือเหล่านี้

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ คลิกที่นี่

https://www.sanskritbook.com/category/story/

ภาพยนตร์ในดินแดนโสมแดง

ซินเดอเรลลาแห่งเอเชีย

ความรักฉบับผู้นำเกาหลีเหนือ

« ประหารโหดในเกาหลีเหนือ
ภาพยนตร์ในดินแดนโสมแดง »