ปลดแอกจัณฑาล 22 กุมภาพันธ์ 2020 – Posted in: People & Places

ขอทานไม่ใช่จัณฑาล จัณฑาลก็ไม่ใช่ขอทาน มีคนอินเดียวรรณะจัณฑาลจำนวนไม่น้อยที่พิสูจน์ความสามารถของตน จนประสบความสำเร็จในระดับสูง และเป็นต้นแบบให้กับคนในวรรณะจัณฑาลได้ลุกขึ้นมาพิสูจน์ความสามารถของตน แต่ก็มีจัณฑาลอีกกว่าร้อยล้านคนที่ยังถูกรังเกียจเดียดฉันท์จากสังคมอินเดีย ทั้งๆ ที่การประกาศอิสรภาพจากอังกฤษเมื่อปีค.ศ.1947 (พ.ศ.2490) ได้ประกาศให้วรรณะจัณฑาลสิ้นสุดลงตามกฎหมายก็ตาม

Image Cr. : thehansindia.com

ระบบวรรณะของอินเดียนั้นซับซ้อนกว่าแค่วรรณะทั้ง 4 ที่บรรจุไว้ในคัมภีร์ฤคเวท กล่าวโดยกว้าง ๆ ก็คือชาวฮินดูเชื่อกันว่าผู้คนในแต่ละวรรณะถือกำเนิดมาจากอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของพระพรหม แต่ละคนจึงมีหน้าที่แตกต่างกัน วรรณะสูงสุดคือ “พราหมณ์” นั้นเชื่อว่ามาจากพระโอษฐ์ของพระพรหม จึงมีหน้าที่ถ่ายทอดคัมภีร์พระเวท และประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ วรรณะ “กษัตริย์” เกิดมาจากแขน และมือของพระพรหม จึงมีหน้าที่จับอาวุธ เป็นนักรบที่ปกป้องแผ่นดิน ปกครองบ้านเมือง ส่วนต้นขาของพระพรหม คือ วรรณะ “แพศย์” ซึ่งมีกำลังวังชา ชำนาญการค้าขาย สมกับเป็นพ่อค้าวาณิชย์ และคหบดีผู้มั่งมี ส่วนวรรณะ “ศูทร” แม้จะอยู่ต่ำสุดดุจดังฝ่าเท้าของพระผู้เป็นเจ้า แต่ถ้าปราศจากเท้าเราจะเดินได้อย่างไร วรรณะศูทรจึงรับบทหนักในฐานะกรรมกร ลูกจ้างแรงงาน รวมทั้งช่างฝีมือ ซึ่งเป็นนักปลูกสร้างตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทาง ฯลฯ จะเห็นได้ว่าทั้งสี่วรรณะนี้ต่างมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ในสังคมอินเดียจึงขาดวรรณะใด วรรณะหนึ่งไปเสียมิได้

Image Cr. : qrius.com

นั่นคือเหตุผลที่มากำกับว่าทำไมการแต่งงานกับคนในวรรณะเดียวกันจึงเป็นเรื่องจำเป็น ทั้งนี้เพื่อธำรงความบริสุทธิ์ของวรรณะเอาไว้ หากแต่เรื่องหัวใจ…ใครเล่าจะห้ามปรามกันได้ เมื่อการแต่งงานข้ามวรรณะเกิดขึ้น เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ต่างวรรณะจึงตกไปอยู่ในวรรณะ “จัณฑาล” ราวกับเป็นการประกาศความอัปยศอดสูของผู้ให้กำเนิด คนที่ถูกเรียกว่าเป็นจัณฑาลจึงกลายเป็นบุคคลน่ารังเกียจชิงชัง ถูกกีดกันจากทุกพื้นที่ในสังคมอินเดีย งานที่พวกเขาสามารถทำได้ คือ อาชีพที่ถือว่าต่ำ เช่น คนตักอุจจาระในส้วมไปทิ้ง คนเทกระโดน สัปเหร่อ คนเติมฟืนในพิธีเผาศพ ฯลฯ เพราะขนาดจะเป็นคนรับใช้ในบ้าน หรือคนขับรถประจำทางยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากคนวรรณะจัณฑาลถูกห้ามมิให้แตะต้อง หยิบจับสิ่งของที่ต้องใช้ร่วมกันกับคนวรรณะอื่น วรรณะจัณฑาลจึงถูกเรียกว่า “Untouchables” หรือ “บุคคลผู้ไม่สมควรยุ่งเกี่ยว” นั่นเอง

ดร.แอมเบ็ดการ์ ผู้นำชาวอินเดียวรรณะจัณฑาลปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ Image Cr. : swarajyamag.com

การเคลื่อนไหวของวรรณะจัณฑาล Image Cr. : amazon.in

แต่ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็มีคนจากวรรณะจัณฑาลที่สามารถประกาศให้โลกเห็นว่าการกดขี่จากคนในสังคม ไม่อาจจะมีอิทธิพลไปกว่าความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ในปี ค.ศ.1891 บุรุษหนึ่งถือกำเนิดขึ้นที่เมืองมหูม ในแคว้นมัธยประเทศ ท่านผู้นี้ภายหลังคือ ดร.บี อาร์ แอมเบดคาร์ (Babasaheb Ambedkar) หรือเป็นที่รู้จักกันในนามของบาบาซาเฮป ท่านสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในปี ค.ศ.1917 วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตจาก London School of Economics เนติบัณฑิตจาก Gary’s Inn London ในปี ค.ศ.1923 ท่านผู้นี้ได้นำชาวอินเดียวรรณะจัณฑาลกว่า 5 แสนคน ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ ในวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ.1935 จนถึงทุกวันนี้ ชาวพุทธในประเทศอินเดียเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนาคปูร์ และจันทปูร์ วีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของท่านได้รับการกล่าวถึงในหนังสือเรื่อง “Untouchables” ซึ่งสำนักพิมพ์สันสกฤตนำมาแปลเป็นภาษาไทยภายใต้ชื่อ “จัณฑาล” ที่มีผู้อ่านเรียกร้องให้ตีพิมพ์ใหม่อยู่เสมอ

ดร.อนันทะ ปรัทยุมนา สมัยที่ยังเป็นนักศึกษาด้านศิลปะ Image cr. : edition.cnn.com

แต่ถ้าหากจะกล่าวถึงการปลดแอกจัณฑาลในยุคใหม่ หนึ่งในบุคคลผู้สมควรแก่กล่าวถึง คือ ดร.อนันทะ  ปรัทยุมนา (Dr.P.K.Mahanandia) หรือปีเกจ์ ศิลปินวาดรูปผู้เกิดและเติบโตมาในวรรณะจัณฑาล เขาต้องเผชิญหน้ากับความรังเกียจเดียดฉันท์ชนิดที่ใช้โรงอาหารร่วมกันกับเพื่อนในโรงเรียนไม่ได้ อาหารก็ต้องรอกินส่วนที่เหลือมาจากเพื่อนๆ  ขนาดพ่อครัวตักแกงมาให้ก็ยังต้องระวังมิให้ทัพพีมาสัมผัสกับจานของเขา ซึ่งนี่เป็นเพียงส่วนน้อยนิด เขายังต้องเผชิญกับการตั้งข้อรังเกียจสารพัดรูปแบบ จนกระทั่งวันหนึ่ง ความรักได้ชักนำให้เขาตัดสินใจซื้อจักรยานมือสองหนึ่งคัน เพื่อปั่นไปตามหาหญิงสาวคนรักชาวสวีเดน ซึ่งเกิดในตระกูลสูง ด้วยระยะทางกว่า 7,000 กิโลเมตร ผ่านพรมแดน 8 ประเทศ ใช้เวลาไปทั้งหมด 5 เดือน ตัวเลขเหล่านี้ นอกจากจะพิสูจน์ความรักที่ยิ่งใหญ่แล้ว ยังบ่งบอกถึงความเด็ดเดี่ยวของคนที่คำว่า “จัณฑาล” ไม่อาจจะกดขี่เขาได้ ความสำเร็จในอาชีพการงาน บนเส้นทางศิลปินในประเทศสวีเดน ทำให้เขาได้กลับมารับใช้บ้านเกิดที่เคยยัดเยียดความต่ำต้อยในระบบวรรณะจัณฑาลให้เขามาตั้งแต่เกิด อ่านเรื่องราวที่น่าทึ่งของเขาได้จากหนังสือเรื่อง “นิวเดลี-บูโรส”

นายราม นาถ โกวินท์ ประธานาธิบดีคนที่ 14 ของประเทศอินเดีย Image Cr. : ibtimes.co.in

แม้ว่าการต่อสู้เพื่อปลดแอกวรรณะจัณฑาลเป็นเพียงหยดน้ำเล็กๆ ที่หยดลงบนหินผาซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไรถึงจะกร่อน แต่ทุกวันนี้ เราเริ่มเห็นการให้โอกาสคนในวรรณะจัณฑาลมากขึ้นในสังคมอินเดีย ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า…สิ่งที่สำคัญไปกว่าเรื่องของวรรณะ คือ ความสามารถและคุณธรรมของแต่ละบุคคล ดังเช่น นายราม นาถ โกวินท์ ประธานาธิบดีคนที่ 14 ของประเทศอินเดียนั้น คือ คนวรรณะจัณฑาลคนที่ 2 ที่สามารถก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งอันทรงเกียรติและจุดสูงสุดของสังคมอินเดีย

แม้กฎเกณฑ์เรื่องวรรณะจะเข้มแข็งสักเพียงใด แต่คนเราสามารถฉีกออกไปจากกรอบของสังคมได้
สิ่งที่น่ากลัวไม่ได้อยู่ที่สังคมจะบัญญัติว่าเราเป็นใคร หากอยู่ที่ตัวเราต่างหากที่จะฝ่าฟันข้อจำกัดของสังคมไปได้อย่างไร

เพราะพระเจ้าคงมิได้รักเพียงแค่อวัยวะของท่าน…หากยังเผื่อแผ่ความเมตตาไปยังฝุ่นละอองธุลีที่โอบกอดอยู่รอบพระวรกายของพระองค์ด้วย

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ คลิกที่นี่

https://www.sanskritbook.com/category/story/

กามเทพเล่นกล ให้เธอตกหลุมรักแพทย์หนุ่มนักสู้ผู้พิการทางสายตา

ปั่น 7,000 กม. ระยะทางพิสูจน์รักแท้

สงครามในนามปฏิวัติวัฒนธรรม

« ความรักฉบับผู้นำเกาหลีเหนือ
กามเทพเล่นกล ให้เธอตกหลุมรักแพทย์หนุ่มนักสู้ผู้พิการทางสายตา »