แมนซานาร์ ฝันร้ายของชาวอเมริกันสายเลือดญี่ปุ่น 16 พฤษภาคม 2020 – Posted in: People & Places

7 ธันวาคม 1941 ญีปุ่นเปิดฉากโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์แบบสายฟ้าแลบ เป็นเหตุให้รัฐบาลอเมริกันโต้กลับด้วยการตบเท้าเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่สองเต็มตัว พร้อมทั้งกวาดต้อนพลเมืองอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นเข้าไปอยู่ค่ายกักกันที่มีถึง 10 แห่งในสหรัฐอเมริกา หนึ่งในนั้นคือค่ายแมนซานาร์

หลังจากระบบศักดินาของโชกุนโตกุงาวะสิ้นสุดลงพร้อมกับยุคเอโดะ ญี่ปุ่นเปิดประเทศอีกครั้งเมื่อเข้าสู่ยุคเมจิ เปิดโอกาสให้พลเมืองบางส่วนเลือกหนีจากความแร้นแค้นไปตายเอาดาบหน้าในดินแดนใหม่ (ค.ศ.1868-1912) 3 ประเทศจุดหมาย ได้แก่ แคนาดา อเมริกา และบราซิล โดยถิ่นฐานใหม่กระจายอยู่ทางทิศตะวันตกของทวีป ซึ่งนับว่าใกล้กับญี่ปุ่น ห่างเพียงแค่มหาสมุทรแปซิฟิกกั้น

ชาวญี่ปุ่นอพยพรุ่นแรกที่หวังจะสร้างชีวิตที่ดีกว่าในอเมริกา (Image cr. : omahamagazine.com)

ในอเมริกา ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะตั้งถิ่นฐานแถบรัฐแอริโซนา แคลิฟอร์เนีย โอเรกอน วอชิงตัน ชาวญี่ปุ่นรุ่นแรกที่เรียกว่า “อิสเซอิ” เป็นคนขยัน สู้งานไม่ถอย พวกเขาเป็นลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม เหมืองแร่ ไร่อ้อย และสร้างทางรถไฟ พอเริ่มลงหลักปักฐานได้ก็ถวิลหาคนมาช่วยทำข้าวปั้น นั่นจึงเป็นโอกาสของสาวๆ ที่ถูกหมายตัวจากภาพถ่าย ข้ามน้ำข้ามทะเลไปแต่งงาน จนมีคำเรียกว่า “Bride Picture” หรือ “เมียสั่งทางไปรษณีย์” ก่อให้เกิดทายาทรุ่นที่สองซึ่งเกิดและเติบโตในสหรัฐอเมริกา เรียกว่า “นิเซะอิ” คนรุ่นนี้แม้จะเกิดในครอบครัวชาวญี่ปุ่น กินอยู่แบบคนญี่ปุ่นใน Japantowns หรือ Nihonmachi แต่พวกเขาก็สำนึกตนว่าเป็นชาวอเมริกัน แต่ด้วยความหมั่นไส้ของคนอเมริกันเชื้อสายยุโรป จึงหาว่าเขาเป็นพวก “ภัยเหลือง” อันแสดงให้เห็นถึงทัศนคติการเหยียดผิวด้วยความชิงชัง

7 ธันวาคม 1941 เมื่อกองทัพของพระจักรพรรดิเปิดฉากถล่มเพิร์ลฮาเบอร์แบบปูพรม ชาวญี่ปุ่นในอเมริกาถูกมองว่าเป็นสายให้ฝ่ายญี่ปุ่น วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1942 ประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี โรสเวลท์ ตัดสินใจลงนามในคำสั่งของฝ่ายบริหารที่ 9066 ซึ่งเปิดทางให้มีการสร้างค่ายกักกันชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น ที่กวาดต้อนพวกเขาเข้าไปอยู่ในค่ายโดยไม่มีการสอบสวน กลายเป็นบาดแผลทางใจของชาวญี่ปุ่นรุ่นหนึ่ง รุ่นสอง ในเวลาต่อมา

การกวาดต้อนชาวญี่ปุ่นไปเข้าค่าย เริ่มจากการติดประกาศตามเสาไฟฟ้า ดังใจความตอนหนึ่งในหนังสือเรื่อง Garden of Stones” หรือ “บาดแผลซากุระ” ภาคภาษาไทยโดยสันสกฤตว่า

“คำสั่งสำหรับคนที่มีเชื้อสายญี่ปุ่นทุกคน

“ชาวญี่ปุ่นทุกคนทั้งที่เป็นคนต่างด้าวและไม่ใช่คนต่างด้าว จะถูกอพยพไปจากสถานที่นี้…”
“สำนักงานควบคุมพลเรือนจะให้บริการด้านการจัดการ การเช่า การขาย จัดเก็บหรือควบคุมอสังหาริมทรัพย์แทบทุกประเภท…
…ขนย้ายประชาชนและเสื้อผ้าจำนวนจำกัด รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้ สำหรับที่อยู่อาศัยแห่งใหม่”

ทหารอเมริกันนายหนึ่ง ดูแลครอบครัวของ Shigeho Kitamoto ซึ่งมีแต่ลูกเล็ก ๆ อพยพไปอยู่ในค่ายกักกัน ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2485 (Image cr. : washingtonpost.com)

คำประกาศที่เปรียบดังสายฟ้าฟาดทำให้ชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นราว 120,000 คน ตกอยู่ในฝันร้ายทันที พวกเขาถูกบังคับให้ทิ้งสมบัติที่สร้างขึ้นมา หยิบฉวยไปได้เพียงเสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัว หอบลูกจูงหลานไปขึ้นรถไฟอย่างทุลักทุเล กลายเป็นพลเมืองอเมริกันที่ถูกริดรอนอิสรภาพ หนึ่งในค่ายที่ถูกกล่าวถึงในหนังสือ Garden of Stones : บาดแผลซากุระ”  คือค่ายกักกันแมนซานาร์ ซึ่งอยู่ทางเชิงเขาเซียร์ราเนวาดา

แม้ค่ายจะไม่ใช่คุก แต่ใช่ว่าจะอยู่กันอย่างสุขสบาย โรงนอนเป็นอาคารเตี้ยๆ เรียงกันเหมือนโดมิโน จุได้เรือนละ 6 ครอบครัว ในห้องที่กั้นผนังด้วยไม้หยาบๆ สูงไม่ถึงเพดาน มีประตูเสื่อน้ำมันกั้นทางเข้าออก มีเตียงนอนแบบและผ้าห่มสากๆ ให้ ภายในค่ายแจกอาหารวันละ 2 กะ แต่ชาวญี่ปุ่นที่ปกติกินอาหารแบบญี่ปุ่นเมื่ออยู่บ้าน เมื่อเจอลูกพีชในกระป๋องกับข้าวสวยที่เข้ากันไม่ได้เลย ทำให้ผ่ายผอม สุขภาพย่ำแย่ อีกทั้งเรื่องราวระหว่างผู้คุมชายอเมริกันกับหญิงสาวชาวญี่ปุ่นที่มีทั้งยินยอมพร้อมใจและไม่อาจขัดขืนซึ่งปรากฏในหนังสือเรื่อง “บาดแผลซากุระ”

บรรยากาศที่พักภายในค่าย (Image cr. : zocalopublicsquare.org)

ความลำบากอีกอย่างในค่ายก็คือพายุฝุ่นที่เกิดขึ้นทุกๆ สามวัน ทรายเม็ดเล็กละเอียดเล็ดลอยมาเข้าจมูก เข้าปอด ตกกลางคืนจึงมีเสียงไอโขลกๆ ดังไปทั่วทุกเรือนนอน หลายคนได้โรคหอบหืดติดตัวนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ช่วงเวลาฝันร้ายในค่ายกักกันทั้ง 10 แห่งกินเวลาประมาณ 3 ปี มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยราว 2,000 คน จากการป่วยทางกายและอาการตรอมใจ วันที่ 18 ธันวาคม 1944 มีการประกาศยกเลิกกักกันพวกเขา แต่ก็ไม่ง่ายนักสำหรับชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นที่จะออกไปตั้งหลักใหม่นอกค่าย บางคนไม่เหลือทรัพย์สินใดๆ ครั้นจะอยู่ในค่ายต่อไปก็ผิดกฎ หลายคนเลือกเดินทางกลับไปญี่ปุ่นอย่างคนสิ้นเนื้อประดาตัว ชีวิตหลังสงครามโลกครั้งที่สองของพวกเขาแทบไม่ต่างไปจากคนญี่ปุ่นแพ้สงคราม

จากคนที่เคยมีอยู่ มีกิน ต้องไปเป็นชาวค่าย รับอาหารแจกวันละ 2 มื้อ (Image cr. : sfchronicle.com)

ในปี 1980 ชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นกดดันให้ประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ สอบสวนกรณีที่ชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น 120,000 คน ถูกนำไปกักกันในค่ายผู้อพยพ ซึ่งไม่พบหลักฐานอะไรที่ชี้บ่งว่าพวกเขามีความผิดเลย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากความเกลียดชัง และความต้องการจำกัดการเติบโตของชุมชนชาวญี่ปุ่น ในปี 1988 ประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ได้ลงนามในกฎหมายพระราชบัญญัติเสรีภาพพลเรือน เพื่อเป็นการขอโทษชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น พร้อมชดใช้เงินให้กับผู้ที่รอดชีวิตราว 8 หมื่นกว่าคน คนละ 20,000 ดอลลาร์ (เทียบเท่า 42,000 ดอลลาร์ในปี 2019)

น่าเสียดายที่ชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นที่เคยผ่านฝันร้ายในค่ายกักกัน ไม่มีใครบันทึกเรื่องราวเหล่านั้นให้โลกได้รับรู้ ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของชาวญี่ปุ่นไม่นิยมเปิดเผยเรื่องส่วนตัว โดยเฉพาะความเจ็บปวดและการหยามเกียรติ ด้วยเหตุนี้เอง Garden of Stones” เขียนโดย โซฟี ลิตเติ้ลฟิลด์  ซึ่งสันสกฤตนำมาแปลเป็นภาษาไทยในชื่อว่า “บาดแผลซากุระ” จึงพาเราเดินทางกลับไปยังประวัติศาสตร์บางเสี้ยวส่วนของชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น ผ่านเรื่องราวของมิยาโกะ แม่หม้ายวัยสาวที่มีลูกติดที่เพิ่งสูญเสียสามีของเธอไป ทำให้เธอต้องหอบลูกสาวไปอยู่ในค่ายแมนซานาร์ ซึ่งเหตุการณ์ในค่ายได้ทิ้งรอยบาดแผลไว้ให้ลูกสาวของเธอ ไม่ต่างอะไรกับแผลในใจของชาวญี่ปุ่นอพยพและลูกหลานของพวกเขา

บรรยากาศภายในค่ายกักกันชาวญี่ปุ่น (Image cr. : latimes.com)

การกระทำอันหมิ่นเกียรติและหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ครั้งนั้น ได้รับการชำระความกันใหม่ใน 70 ปีต่อมา หลังการสอบสวนโดยคณะกรรมาธิการที่รัฐสภาสหรัฐฯ จัดตั้งขึ้น เมื่อเดือนมิถุนายน 2018 ประธานศาลสูงสุด จอห์น จี. โรเบิร์ตส์ จูเนียร์ เขียนไว้ว่า การบังคับขืนใจให้พลเมืองสหรัฐฯ เข้าค่ายกักกัน บนพื้นฐานของเชื้อชาติเพียงอย่างเดียวและโจ่งแจ้ง เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายอย่างชัดเจน และอยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจของประธานาธิบดี”

แต่คำขอโทษใดๆ ก็ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์อดีตได้ ชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นจึงเป็นผู้ถูกกระทำด้วยความอคติ หรือนั่นคือชะตากรรมของพลเมืองในประเทศก่อสงคราม

อ่านเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ทิ้งรอยบาดแผลให้กับชาวญี่ปุ่นอพยพได้จากหนังสือเล่มนี้

ข้อมูลอ้างอิง

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ คลิกที่นี่

https://www.sanskritbook.com/category/story/

เราต้องขริบเจ้า

ย้อนรอยเส้นทางอำนาจตระกูลคิม : ตอน 3 คิม จองอึน

ย้อนรอยเส้นทางอำนาจตระกูลคิม : ตอน 2 คิม จองอิล

 

 

 

 

 

 

« Biblioburro ห้องสมุดบนหลังลา ที่ประเทศโคลอมเบีย
เราต้องขริบเจ้า »