แฮเนียว…ผู้หญิงแห่งท้องทะเล 25 ตุลาคม 2019 – Posted in: People & Places – Tags: , , , ,

เพราะการอ่านนำไปสู่การสำรวจโลกที่เราไม่รู้จัก และบ่อยครั้งยังนำเราไปสัมผัสวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีในท้องถิ่นอันห่างไกล ในห้วงเวลาที่แตกต่างไปจากยุคปัจจุบัน อย่างในหนังสือเรื่อง “เบญจมาศสีเลือด-White Chrysanthemum” นอกจากสะท้อนชะตากรรมของหญิงสาวชาวเกาหลีที่ถูกทหารญี่ปุ่นจับตัวไปเป็นนางบำเรอในค่ายทหารแล้ว ยังสะท้อนวิถีอาชีพของแฮเนียว บนเกาะเชจู ประเทศเกาหลีใต้ ที่สืบทอดวิถีการดำน้ำจับสัตว์ทะเลด้วยมือเปล่ามาหลายชั่วอายุคน

ก่อนที่เราจะลงไปดำผุดดำว่ายในทะเลอักษรอันแสนสะเทือนใจ แมรี ลินน์ แบรตช์เปิดฉากให้ผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ แฮเนียว (Haenyeo) ซึ่งเป็นภาษาเกาหลีหมายถึงผู้หญิงแห่งท้องทะเล เป็นคำเรียกขานนักดำน้ำหญิงท้องถิ่นแห่งเกาะเชจู ซึ่งดำรงชีพด้วยการดำน้ำ หาอาหารทะเลมานานหลายศตวรรษ

Photo Cr : londonkoreanlinks.net

ด้วยธรรมชาติของเกาะเชจูที่เต็มไปด้วยภูเขาไฟ มีพื้นที่เพาะปลูกน้อย อากาศหนาวเย็น อาชีพหลักของผู้ชายบนเกาะนี้คือการทำประมง พวกเขาจะออกทะเลไปกับเรือเพื่อหาปลาในน่านน้ำลึกครั้งละหลายเดือน นาน ๆ ทีจะกลับเข้าฝั่งสักครั้งหนึ่ง จึงเป็นภาระของเหล่าแม่บ้านและบรรดาผู้หญิง ที่ต้องดิ้นรนทำมาหากิน เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เลี้ยงลูก เลี้ยงหลาน โดยไม่ยอมงอมืองอเท้า

Photo cr. : www.lisasee.com

จะเรียกว่าเป็นพรสวรรค์ หรือสัญชาตญาณแห่งการเอาตัวรอดของเหล่านางเงือกหญิงที่พัฒนาขึ้นมาในท่ามกลางสภาพแวดล้อม และสถานการณ์กึ่งบังคับก็ว่าได้ ในประวัติศาสตร์มิได้ระบุว่าผู้หญิงคนแรกที่ตัดสินใจดำน้ำตัวเปล่า ดิ่งลงไปจับหอย ปลาหมึกตัวใหญ่ ๆ ขึ้นมาปรุงอาหารให้กับครอบครัวและเหลือก็นำมาขายนั้น เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไร ว่ากันว่าแฮเนียวเป็นอาชีพดั้งเดิมที่สืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ในอดีตชุดของแฮเนียวเป็นผ้าธรรมดา แต่ต่อมาได้พัฒนาให้เป็นชุดยางสีดำที่ช่วยป้องกันอุณหภูมิในร่างกาย และมีอุปกรณ์เพิ่ม ได้แก่ ตีนกบ หน้ากากดำน้ำ ทุ่นสีส้ม ถุงเชือกตาข่าย ฉมวก ฯลฯ แต่พวกเธอไม่มีถังออกซิเจน จึงเป็นการจับสัตว์ทะเลด้วยมือเปล่าอย่างแท้จริง

Photo cr. : www.jejuweekly.com

แฮเนียวส่วนใหญ่ดำน้ำลึกประมาณ 3-5 เมตร มีบางคนดำได้ลึกถึง 7 เมตร ส่วนจะจับสัตว์ขึ้นมาได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะกลั้นใจในน้ำได้นานกว่ากัน ส่วนใหญ่กลั้นได้นาทีครึ่ง แต่คนที่กลั้นหายใจได้นานที่สุดราว 3 นาที แฮเนียวทุกคนจะรู้ตัวและตระหนักถึงขีดความสามารถของตัวเองตลอดเวลา และไม่ฝืนร่างกายเมื่อดำน้ำไม่ไหว โดยทั่วไปแฮเนียวจะทำงาน 18 วันต่อเดือน คือทำ 9 วัน พัก 6 วัน เนื่องจากต้องจัดเวลาชีวิตให้ตรงกับกระแสน้ำขึ้น น้ำลง ส่วนวันที่ว่างจากการดำน้ำ พวกเธอจะไปทำไร่ เก็บส้ม ฯลฯ

ในหนังสือเรื่อง “เบญจมาศสีเลือด” ผู้เขียนสะท้อนวิถีแฮเนียว ผ่านชีวิตของฮานา หญิงสาวดรุณวัย ที่เรียนรู้การดำน้ำจับสัตว์ทะเลด้วยมือเปล่าจากแม่ของเธอ คนบนเกาะเชจูเชื่อว่า การดำน้ำเป็นงานของผู้หญิง เพราะร่างกายของพวกเธอนั้นทนความหนาวเย็นในมหาสมุทรได้ดีกว่าผู้ชาย ดำน้ำลงไปได้ลึกกว่า กลั้นลมหายใจได้นานกว่า และรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อุ่นกว่า จึงเป็นเวลานานนับศตวรรษมาแล้วที่ผู้หญิงเชจู สุขใจกับอิสระในการดำน้ำ และขายอาหารทะเลที่จับได้มากมาย

Photo cr. : www.en.trippose.com

ฮานาตามแม่ไปลงทะเลตั้งแต่เด็กเหมือนอย่างที่บรรพบุรุษฝ่ายหญิงของเธอทำกันมา แม่ตัดหอยเป๋าฮื้อจากหินใต้ก้นมหาสมุทรให้เธอดูเป็นครั้งแรกเมื่อเธออายุได้ 11 ปี ในการฝึกครั้งแรกนั้น ฮานาสูดหายใจเร็วด้วยความตื่นเต้น เธอรีบถีบตัวขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อหายใจ มือข้างหนึ่งกำมีด มืออีกข้างกำหอยเป๋าฮื้อ ว่ายน้ำสุดกำลังขึ้นมาหาแสง ปอดของเธอร่ำร้องหาอากาศ ในที่สุดเมื่อทะยานพ้นผิวน้ำ เธอสูดเอาน้ำทะเลเข้าไปมากกว่าออกซิเจน เธอตะกุยตะกายสู้คลื่นและสำลักน้ำ เริ่มเสียสติ ตื่นตระหนก คลื่นโถมเข้าใส่ซัดเธอจมลงใต้น้ำ เธอกลืนน้ำเข้าไปอีกรอบ แต่ในที่สุดเธอก็สามารถฝึกฝนจนชำนาญ เธอภูมิใจที่เป็นอีกหนึ่งแรงในครอบครัวที่สามารถยังชีพในวิถีที่พึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องง้อผู้ชาย

แต่แล้ววันหนึ่ง…ศักดิศรีและความภูมิใจของเธอก็แตกสลาย ราวสายฟ้าฟาดเปรี้ยง เมื่อเธอโผล่พ้นน้ำมาพบกับทหารญี่ปุ่นที่เดินกันขวักไขว่ไปทั่วประเทศเกาหลี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นับจากวันนั้น อิสรภาพในการดำน้ำของเธอก็หลุดลอยไป เธอต้องดำดิ่งไปสู่ความมืดมนอนธการของการเป็นทาสกาม หรือหญิงบำเรอในสงครามโลกครั้งที่ 2

During my 20 days stay in Jeju Island (September and octuber) the Haenyeos where specially interested in the turban shell but they also collected some octopuses whem they found it. The eco-friendly harvesting techniques of these women are sustainable as well. Because there’s a limit to how long they can hold their breath underwater, any personal desire for an excessive harvest is naturally restrained. The fishing village cooperatives adminis- ter the local fishing grounds by regulating such mat- ters as harvest periods, diving time, and minimum size of marine products that can be collected, in addition to controlling diving techniques and the kind of tools that can be used. Is has impressed me the habity they have the take big octopuses from under the rocks in a single breath and using only a primitive tool. Seongsanri, Seongsan-eup, Seogwipo-si, Jeju-do, Republic of Korea, october 2017.

Photo cr : www.lucianocandisani.com

ปัจจุบันนี้บนเกาะเชจู มีผู้หญิงที่เป็นแฮเนียวเหลืออยู่ไม่กี่คน ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 60-85 ปี ส่วนแฮเนียวที่มีอายุราว 30 ปี นั้นมีไม่ถึง 10 คน เหตุที่คนรุ่นใหม่เลือกที่จะไม่สืบสานวิถีอาชีพนี้ต่อไป เพราะคนเข้าถึงการศึกษามากขึ้น ครอบครัวจึงส่งเสริมให้ลูกหลานได้มีอาชีพที่สบาย มากกว่าการเป็นแฮเนียว เป็นเหตุให้นางเงือกแห่งเกาะเชจูลดน้อยถอยลง และอาจจะหมดลงไปในที่สุด

เมื่อปี พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ยกย่องให้วิธีการดำน้ำเพื่อจับสัตว์ทะเลด้วยมือเปล่านี้ เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อเป็นการสดุดีวิธีการที่หญิงดำน้ำกลุ่มนี้ ปฏิบัติต่อท้องทะเลอย่างให้ความเคารพมาช้านาน และพวกเธอยังเป็นสัญลักษณ์ของสำคัญของเกาะเชจูด้วย

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ คลิกที่นี่

https://www.sanskritbook.com/category/story/

ทาสกาม สงครามโลกครั้งที่ 2

ฮัมมัม … ความลับในโรงอาบน้ำ

 

 

 

 

 

« ชะตากรรมญี่ปุ่นอพยพ
แมรี ลินน์ แบรตช์ ถ่ายทอดบาดแผลของหญิงบำเรอสู่ตัวหนังสือสุดสะเทือนใจ »