จิ๊กซอว์ตัวสำคัญในเหตุการณ์กวาดต้อนชาวยิวใจกลางกรุงปารีส 28 พฤษภาคม 2020 – Posted in: People & Places

เพราะเหตุใดการกวาดต้อนชาวยิวใจกลางกรุงปารีสที่เรียกว่า “เวลดีฟ” จึงถูกพูดถึงน้อยมาก ทั้งที่เหตุการณ์ครั้งนั้นนำไปสู่การสังหารหมู่ชาวยิวราวหนึ่งหมื่นสามพันคน และในจำนวนนั้นเป็นเด็กเล็กๆ กว่าสี่พันคน วันนี้เราจะชวนคุณไปต่อภาพจิ๊กซอว์เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ ผ่านภาพยนตร์ 2 เรื่อง และหนังสือ 1 เล่ม ทั้งหมดจะร่วมกันฉายภาพเหตุการณ์กวาดต้อนชาวยิวใจกลางกรุงปารีส ให้เราได้เห็นอย่างชัดเจน

ช่วงเวลาแห่งความสุข เมื่อชาวฝรั่งเศสได้มาชมการแข่งขันจักรยานภายในสนามแข่งขันในร่มที่ภายหลังกลายเป็นที่กักกันชาวยิว (Image cr. Life.com)

กว่า 70 ปีมาแล้ว ที่เหตุการณ์  “เวลดีฟ ราวด์อัพ” ( Vel’d’Hiv Roundup) หรือการกวาดล้อมชาวยิวครั้งใหญ่ใจกลางกรุงปารีส ซึ่งปะทุขึ้นในวันที่ 16-17 กรกฎาคม 1942 ได้เกิดขึ้น แต่บัดนี้ค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน ถ้าหากความตั้งใจของรัฐบาลฝรั่งเศสคือการกลบเรื่องราวในอดีตก็นับว่าค่อนข้างได้ผล เพราะสถานที่สำคัญที่สุดในเหตุการณ์ครั้งนั้น อย่างสนามแข่งจักรยานในร่มเวลดีฟ (the Vélodrome d’Hiver ) หรือ Winter Velodrome ก็ถูกทุบทิ้งไปตั้งแต่ปี 1959 ส่วนดรองซี (Drancy)ซึ่งในอดีตเคยเป็นหนึ่งในฐานพักรอส่งตัวชาวยิวไปยังค่ายสังหารเอาท์ชวิตซ์ ก็กลายเป็นอพาร์ทเมนต์เล็กๆ ถึงจะมีอนุสรณ์สถาน แต่ก็เปิดให้ชมเมื่อมีการนัดหมายเท่านั้น หากไปถามคนในละแวกใกล้เคียงถึงเหตุการณ์ราวด์อัพ หรือการกวาดล้อมชาวยิวในปี 1942 ผู้คนที่พักอาศัยในย่านที่เคยมีอดีตอันมืดมนแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันวานนั้นเลย

ในขณะที่ประวัติศาสตร์ที่ค่อยๆ จางหายไปพร้อมกับกาลเวลา ยังมีความพยายามของผู้กำกับภาพยนตร์ และนักเขียน ที่มาช่วยกันต่อจิ๊กซอว์เหตุการณ์ “เวลดีฟ ราวด์อัพ” ให้ชัดเจนขึ้นอีกครั้ง และนี่คือ 3 สื่อสร้างสรรค์ที่นำเสนอความจริงของชาวยิวในกรุงปารีส ที่ผู้สนใจศึกษาเหตุการณ์ “เวลดีฟ ราวด์อัพ” ห้ามพลาด

ภาพยนตร์ : La Rafle (The Roundup) (2010)

 

(Image cr. : keithandthemovies.com)

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลฝรั่งเศสแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือ นายพล ชาร์ลส์ เดอ โกล (Charles de Gaulle) ไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ อีกฝ่ายหนึ่งนำโดย นายพลอองรี ฟิลิป เปแต็ง (Marshal Philippe Pétain) ไปจัดตั้งรัฐบาลที่เมืองวิชี (Vichy) ดังนั้น ถ้าพูดถึงรัฐบาลวิชี จึงหมายถึงรัฐบาลหุ่นเชิดของเยอรมันภายใต้การนำของนายพลเปแต็ง ซึ่งปกครองฝรั่งเศสในระหว่างปี 1940-1944

La Rafle (The Roundup)” เป็นภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศสที่เขียนบทและกำกับโดย Roselyne Bosch เธอต้องการตีแผ่เหตุการณ์ล้อมจับชาวยิวใจกลางกรุงปารีส ซึ่งฝรั่งเศสเองไม่ค่อยอยากจะพูดถึง เพราะผู้ที่ลงมือกระทำต่อชาวยิวในครั้งนั้นมิใช่ทหารนาซีโดยตรง แต่เป็นตำรวจฝรั่งเศสภายใต้รัฐบาลระบอบวิชีนั่นเอง

หลังจากได้รับมอบหมายคำสั่งจากนาซีภายใต้ชื่อ “ปฏิบัติการสายลมแห่งฤดูใบไม้ผลิ” (Operation Spring Breeze) ตำรวจฝรั่งเศสได้วางแผนเข้าล้อมจับชาวยิวในเช้ามืดของวันที่ 16-17 กรกฎาคม 1942 ขณะที่พวกเขากำลังหลับอยู่ในอพาร์ทเมนต์กลางกรุงปารีส ตำรวจหลายร้อยนายเข้ารื้อค้นอพาร์ทเม้นต์ทุกห้องและออกคำสั่งให้ชาวยิวเก็บกระเป๋า ให้จัดเสื้อผ้าไปได้เพียง 2 ชุด จากนั้นทั้งผู้ใหญ่และเด็กถูกกวาดต้อนเข้าไปอยู่กันอย่างแออัดในสนามแข่งขันจักรยานในร่มเวลดีฟ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหอไอเฟล

สภาพความเป็นอยู่ที่แน่นขนัดยัดทะนานของชาวยิวเรือนหมื่น ในอาคารทั้งหลังที่มีห้องน้ำเพียง 5 ห้อง น้ำดื่มแทบไม่มี น้ำอาบไม่ต้องพูดถึง อาหารขาดแคลน เด็กๆ เริ่มป่วย ชะตากรรมอันน่าสังเวชใจของชาวยิว ถ่ายทอดผ่านสายตาของพยาบาลสาวชาวฝรั่งเศส Annette  Monod ซึ่งอยู่ร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้น (รับบทโดย Melenie Laurent) และคุณหมอชาวยิว (รับบทโดย Jean Reno)

เด็กน้อยชาวยิวกว่า 4,000 คนที่อาศัยใจอยู่ใจกลางเมืองปารีสคือเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุครั้งนี้ (Image cr. : jforum.fr)

ไม่ต้องมีฉากรมแก๊สหรือการตายอันชวนหดหู่ แต่สภาพความเป็นอยู่ของชาวยิวที่ไม่มีอนาคตเหลืออยู่ การพลัดพรากของสามี ภรรยา และลูกๆ ซึ่งถูกจับแยกออกเป็นสามกลุ่ม ก่อนถูกส่งตัวไปสังหารที่ค่ายเอาท์ชวิตซ์ก็บีบหัวใจเกินทน

“โจ” หนึ่งในเด็กชายไม่กี่คนที่เหลือรอดพ้นจากการกวาดล้างในครั้งนั้น ปัจจุบันคือ Joseph  Weissman ชาวยิวผู้เอาตัวรอดมาจากเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วยคำสัญญาที่ให้ไว้กับแม่ว่าเขาจะต้องเอาชีวิตให้รอด…แต่เขากลับเหมือนตกอยู่ในฝันร้ายมาทั้งชีวิต

ภาพยนตร์ : Sarah’s Key(2010)

 

ในปีเดียวกัน Sarah’s Key ก็เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ราวกับนัดกันมา เพื่อตอบโจทย์ที่ยังไม่ได้คลี่คลายในภาพยนตร์เรื่อง La Rafle (The Roundup) ว่าคนที่รอดมาได้มีชีวิตอยู่ต่อมาอย่างไร ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากหนังสือชื่อเรื่องเดียวกันที่ขายลิขสิทธิ์ทั่วโลกกว่า 31 ประเทศ ภายใต้ผลงานการกำกับของ Giles Paquet-Brenner

Sarah’s Key สะท้อนเหตุการณ์วิปโยคที่เกิดขึ้นในเช้ามืดของวันที่ 16-17 กรกฎาคม 1942 ผ่านการสืบค้นย้อนรอยของคอลัมนิสต์สาวชาวอเมริกันนามว่า “จูเลีย” (รับบทโดย Kristen Scott Thomas) ที่ได้รับมอบหมายให้เขียนบทความเกี่ยวกับเหตุการณ์ “เวลดีฟ ราวด์อัพ” ตัดสลับไปกับเรื่องราวของครอบครัวสตาร์ซินสกี้ ที่มีกันอยู่ 4 คน พ่อแม่ ลูกสาว และลูกชาย ซึ่งในเช้าวันที่ชาวยิวถูกกวาดต้อนออกมาจากอพาร์ทเม้นต์ เด็กหญิงซาราห์ ได้ซ่อนน้องชายตัวเล็กๆ ไว้ในตู้เสื้อผ้าลับ เพื่อให้เขารอดพ้นจากเงื้อมมือของทหารฝรั่งเศส แต่แล้วเธอก็ได้รู้ว่านั่นคือการตัดสินใจที่ผิดมหันต์ เพราะตลอดเวลาในค่ายกักกัน เธอและครอบครัวปรารถนาจะให้น้องชายตัวเล็กๆ ได้มาทุกข์สุขด้วยกัน แม้ในห้วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดก็ตาม

ภาพยนตร์ที่งดงามไปด้วยความหมายของชีวิต ที่สะท้อนผ่านมุมมองของคอลัมนิสต์ที่สนใจชะตากรรมของชาวยิวเรื่องนี้ ทำให้เราได้เห็นความโหดร้ายของตำรวจฝรั่งเศสที่ร่วมมือกับพรรคนาซีอย่างเข้มข้น ในขณะที่ภาคประชาชนพยายามให้ความช่วยเหลือชาวยิวอย่างสุดความสามารถ

หนังสือ : “Sarah’s Key : ขาดใจ”

บทประพันธ์สุดรันทดและงดงาม ของตาเตียนา เดอ โรสิเนย์ (Tatiana de Rosnay) ที่สันสกฤตนำมาแปลเป็นไทยภายใต้ชื่อ “ขาดใจ” เขียนในปี 2007 เพื่อเป็นภาพสะท้อนชะตากรรมของชาวยิวกลางกรุงปารีสที่ถูกกวาดล้อมจับตัวไปได้ 13,152 คน ในจำนวนนั้นมีเด็กกว่า 4,000 คน

ตาเตียนา พาเราสำรวจสถานที่จริงที่นำไปสู่เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ซึ่งปัจจุบันสถานที่เหล่านั้นแทบจะไม่เหลือร่องรอยของเหตุการณ์ในอดีตให้เห็น ผ่านกลวิธีเล่าเรื่องที่น่าติดตาม ซึ่งผู้อ่านต้องลุ้นเอาใจช่วยซาราห์ว่าเธอจะสามารถนำน้องชายออกมาจากตู้เสื้อผ้าลับ ที่เธอตัดสินใจซ่อนเขาเอาไว้ในเช้าวันที่มีการกวาดล้อมชาวยิวได้หรือไม่ แล้วน้องชายจะยังอยู่รอพี่สาวตามที่รับปากเธอไว้หรือเปล่า แล้วปริศนาที่จูเลียตามหา จะเฉลยออกมาในรูปแบบใด

ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Sarah’s Key (Image cr. : cinemathread.com)

กว่า 70 ปีหลังจากเหตุการณ์ “เวลดีฟ” จบลง อาจดูเหมือนกับนานมาแล้ว แต่เมื่อได้ชมภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องและได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เชื่อแน่ว่าความเจ็บปวด ความสะเทือนใจ ในเหตุการณ์ครั้งนั้น ฉายภาพให้ดูราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง แทบไม่น่าเชื่อว่าในมหานครปารีสที่งดงามนั้น กลับแฝงไปด้วยร่องรอยอดีตอันแสนเจ็บปวด ซึ่งเราจะเลือกเดินผ่านไปเฉยๆ โดยไม่หันกลับไปมอง ก็ไม่ได้ผิดอะไร

แต่การสำรวจเข้าไปในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ทำให้มิติการรับรู้โลกของเราเข้มข้นขึ้น สื่อสร้างสรรค์ที่ทรงพลังเหล่านี้จึงเป็นทั้งกระจกสะท้อนเรื่องราวในอดีต และอาจจะเป็นกระบอกเสียงเล็กๆ ที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวยิวกว่า 6 ล้านคน ที่จบชีวิตลงไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จากการกระทำอันโหดเหี้ยมของนาซี

อ่านเรื่องราวของซาราห์และเหตุการณ์กวาดต้อนชาวฝรั่งเศสใจกลางกรุงปารีสได้จากหนังสือเล่มนี้

  • ขาดใจ
    หมดชั่วคราว

    ขาดใจ

    Sarah's Key

    350.00 ฿ 333.00 ฿

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ คลิกที่นี่

https://www.sanskritbook.com/category/story/

The Godmother เมื่อผู้หญิงกลายเป็นหัวหน้ามาเฟีย

Biblioburro ห้องสมุดบนหลังลา ที่ประเทศโคลอมเบีย

แมนซานาร์ ฝันร้ายของชาวอเมริกันสายเลือดญี่ปุ่น

« เมื่อลูกสาวถูกพ่อฆ่าเพื่อรักษาเกียรติ?
ห้องสมุดจิ๋วในตู้โทรศัพท์ลอนดอน »