เราต้องขริบเจ้า 9 พฤษภาคม 2020 – Posted in: People & Places

“ขริบ” ตามพจนานุกรมหมายถึง การตัดเล็มด้วยกรรไกร ส่วนคำว่า “ขลิบ” นั้นแปลว่า กุ๊น เย็บหุ้มริมผ้าเพื่อกันลุ่ย…เมื่อนำคำว่า “ขริบ” มาใช้กับ “อวัยวะเพศหญิง” หมายถึงการทำ “สุหนัดหญิง” อันเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีที่ยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมา แม้จะถูกประณามว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ตาม

อุปกรณ์ขริบอวัยวะเพศหญิงที่เต็มไปด้วยสนิม (Image cr. : britannica.com)

องค์กรยูนิเซฟคาดการณ์ว่าในปี 2016 มีผู้หญิงว่า 200 ล้านคนทั่วโลก กว่า 30 ประเทศที่ถูกขริบอวัยวะเพศ นั่นหมายความว่า ทุกวันนี้มีผู้หญิง 1 ใน 20 คน ที่ทุกข์ทรมานจากการถูกขริบอวัยวะเพศ รากเหง้าที่แท้จริงมาจากความเชื่อว่าผู้หญิงไม่สมควรพึงพอใจหรือให้ความสนใจในเพศรสซึ่งเป็นเรื่องผิดบาป อีกทั้งยังเป็นไปเพื่อการรักษาความบริสุทธิ์ผุดผ่องจนกว่าจะถึงมือชายผู้เป็นสามีในคืนแรกของวันส่งตัวเข้าหอ

ชุมชนเคนย่าสาธิตความไม่ปลอดภัยของการขริบอวัยวะเพศหญิง (Image cr. : flickr.com/photos/usaidkenya)

นักมานุษยวิทยาเชื่อว่าพิธีขริบอวัยวะเพศของสตรีมีมานานไม่ต่ำกว่า 2,000 ปี และอาจจะเกิดก่อนที่จะมีศาสนาอิสลาม มีหลักฐานทางโบราณคดีค้นพบมัมมี่หญิงอายุ 2,000 ปี ที่มีร่อยรอยการขริบอวัยวะเพศ ซึ่งเชื่อว่าเป็นการรับประกันความบริสุทธิ์ของสตรี และรักษาความซื่อสัตย์โดยเฉพาะผู้ที่มีสามีที่ต้องไปรบ เขาสามารถสั่งให้ภรรยาเย็บปิดอวัยวะเพศเพื่อป้องกันภรรยามีชู้รักในระหว่างที่สามีไม่อยู่ จากความกังวลว่าภรรยาจะนอกใจ กลายเป็นความเชื่อที่ยกระดับไปถึงเรื่องการมีเกียรติ ในหลายประเทศแถบแอฟริกาใต้ พบว่าข้าราชการระดับสูง หรือผู้มีการศึกษานิยมจัดพิธีนี้ให้ลูกหลานของตนเอง

เด็กหญิงส่วนใหญ่จะถูกขริบก่อนวัย 5 ขวบ หรือบางคนอาจจะหลังจากนั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมของครอบครัว และความเชื่อในแต่ละพื้นที่ การขริบส่วนใหญ่จะทำใน  4 ระดับ คือ 1) การตัดปุ่มคลิตอริส 2) การตัดปุ่มคลิตอริสและแคมเล็กออก 3)การตัดทั้งแคมใหญ่และแคมเล็ก แล้วเย็บปิดให้เหลือช่องเล็กๆ สำหรับประจำเดือนและปัสสาวะให้ไหลออกมาได้ 4) การขริบหรือการกระทำใดๆ ที่ทำให้อวัยวะเพศหญิงพิการ

ทุกวันนี้มีเด็กหญิงและผู้หญิงราว 200 ล้านคน ทนทรมานเพราะการถูกขริบอวัยวะเพศ (Image cr. : eoi.es)

ส่วนใหญ่แล้ววิธีที่ 1-2 เป็นวิธีที่นิยมทำมากที่สุด ส่วนวิธีที่ 3 นั้นพบได้ประมาณ 10% ในประเทศโซมาเลียและซูดาน ยกตัวอย่างในประเทศแกมเบีย จะใช้มีดคมๆ ตัดคลิตอริสโดยไม่ใช้ยาชาหรือยาสลบ ส่วนทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา จะมีวิธีการที่น่ากลัวกว่านั้น คือจับเด็กหญิงอายุ 4-8 ขวบ มานอนบนเสื่อที่ทำพิธีกรรม โดยผู้เฒ่ารุ่นย่ายายที่เรียกว่า Gedda จะใช้มีดโกนหรือของมีคมอื่น ตัดอวัยวะสืบพันธุ์ออกทั้งด้านนอกด้านใน แล้วเย็บปิดแผลด้วยเอ็นแมว หรือลวด เหลือเพียงช่องเล็กๆ เท่าหัวไม้ขีดสำหรับปัสสาวะและประจำเดือน เด็กผู้หญิงที่ผ่านพิธีนี้จะถูกมัดขาติดกันจนกว่าแผลจะแห้งสนิท พิธีตัดอวัยวะเพศหญิงแบบนี้เรียกว่า “ฟาโรนิค” แปลว่า การเย็บ ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากอียิปต์ ผู้ที่ถูกเย็บปิดอวัยวะเพศจะต้องเปิดรอยเย็บหลังแต่งงาน  และตอนคลอดบุตร ซึ่งเธอจะต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทรมานแสนสาหัส

ผลเสียที่เกิดตามมาขึ้นอยู่กับสภาวะร่างกายของผู้ที่ถูกขริบ และอุปกรณ์ที่ใช้ ซึ่งมีตั้งแต่การติดเชื้อในระบบปัสสาวะ การติดเชื้อในไต ปัสสาวะลำบาก เกิดซีสต์ก่อตัวในมดลูกจนไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ เกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการคลอดบุตร เลือดไหลไม่หยุด ไปจนถึงการเสียชีวิต ทั้งนี้ไม่ต้องพูดถึงความเจ็บปวดในการมีเพศสัมพันธ์ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

อุปกรณ์ที่ใช้ในการขริบอวัยวะเพศหญิง (Image cr. : dw.com)

มีการเคลื่อนไหวให้ยุติการสุหนัดหญิงมาตั้งแต่ปี 1970 หรือ 50 ปีมาแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก ในปี 2010 องค์การสหประชาชาติ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำสุหนัดหญิง ยุติกระบวนการเหล่านี้แต่ก็ไม่เป็นผล ทั้งที่หลายประเทศระบุว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ประเทศที่ยังมีการขริบ ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกา ทวีปเอเชียในตะวันออกกลาง บางส่วนในอินเดีย ปากีสถาน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และศรีลังกา ในอียิปต์ออกกฎหมายห้ามขริบอวัยวะเพศหญิงมาตั้งแต่ปี 2008 แต่ในปี 2013 ก็ยังมีเด็กหญิงวัย 12 ปี ชื่อว่า Suhair ที่เสียชีวิตจากการถูกขริบอวัยวะเพศ แต่ศาลกลับพิพาษว่าผู้กระทำไม่มีความผิด มิหนำซ้ำทางครอบครัวของเด็กหญิงก็มิได้ติดใจเอาความ เพราะเชื่อว่าการตายของลูกสาวคือความประสงค์ของพระเจ้า พวกเธอยังยืนยันว่าประเพณีควรมีต่อไป ในเมื่อคนรุ่นย่ายายยังผ่านการขริบมาแล้ว คนรุ่นต่อไปก็ควรจะรักษาประเพณีที่รักษาเกียรติของผู้หญิงเอาไว้

เด็กหญิงที่อพยพไปอยู่ที่มอลต้าก็ยังหนีไม่พ้นการถูกขริบอวัยวะเพศ (Image cr. : maltatoday.com)

ในหนังสือเรื่อง “ด.ญ.เดียรี เขาขยี้เธอ” ซึ่งสะท้อนชีวิตสุดรันทดของเด็กหญิงชาวกินีจากทวีปแอฟริกา ที่ถูกจับแต่งงานกับผู้ชายแก่คราวพ่อเมื่ออายุได้ 14 ปี เธอผ่านการขริบอวัยวะเพศหญิง ซึ่งยังความยินดีมาให้ครอบครัวและคนในหมู่บ้าน ดังใจความในตอนหนึ่งว่า

“ยายประคองฉันให้เดินไปตามทาง ผู้หญิงในหมู่บ้านพากันมาคอยอยู่ที่บ้านแล้ว พวกหล่อนแสดงความยินดีกับฉัน ยายมองหน้าฉันแล้วพูดว่า ‘เห็นรึยังใครๆ เขาดีใจกันทั้งนั้น เพราะตอนนี้เจ้าเป็นสาวแล้ว วันนี้เจ้ารับการขริบไปเรียบร้อย”

หลังจากที่เธอพอจะลุกได้แล้ว ผู้หญิงทุกคนในหมู่บ้านยังจัดงานฉลองให้  ค่ำวันนั้นเธอได้กินข้าวกับแกงเนื้อซึ่งไม่ได้กินมานานแล้ว ตามด้วยพิธีเฉลิมฉลองรอบกองไฟ ซึ่งฝ่ายชายไม่มีสิทธิ์เข้าร่วม!

ล่าสุดเป็นที่น่ายินดีว่าประเทศซูดานได้ออกกฎหมายให้การขริบอวัยวะเพศหญิงถือเป็นอาชญากรรม โดยมีการประกาศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 แม้ว่าจะเป็นก้าวเล็กๆ แต่ก็ดีกว่าไม่ก้าวเสียเลย ในปัจจุบันนี้มี 24 ประเทศที่ออกกฎหมายให้การขริบอวัยวะเพศหญิงมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึงตลอดชีวิต และบางแห่งมีการปรับ แต่ผู้คนก็ยังยึดมั่นในความเชื่อ และจารีตประเพณีมากกว่ากฏหมาย ขนาดอพยพไปอยู่ในประเทศแถบยุโรปแล้วก็ยังนำพาประเพณีนี้ไปยังสังคมใหม่อย่างน่าเศร้าใจ

ในประเทศอังกฤษได้บัญญัติไว้ว่าการขริบอวัยวะเพศหญิงนั้นผิดกฎหมายมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1985 แต่ก็ยังมีกลุ่มผู้อพยพเข้ามาใหม่ ไม่เคารพต่อกฎหมาย จนกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการทางสังคม ต้องมอบหมายให้ National Health Service (NHS) ทำการสำรวจในช่วงเดือนเมษายน ระหว่างปี 2018-2019 จึงพบว่ามีผู้หญิงและเด็กหญิงที่ถูกขริบมาแล้ว แต่ไม่เคยเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล ถึง 4,120 คน อังกฤษจึงจัดตั้งสถานพยาบาล 8 แห่ง ในลอนดอน เบอร์มิงแฮม บริสโตล และลีดส์ เพื่อรองรับผู้หญิงเหล่านี้ โดยมีทั้งพยาบาล นักจิตวิทยา และผู้ช่วยทำคลอด ซึ่งมีความชำนาญพิเศษ ผู้หญิงที่ถูกขริบอวัยวะเพศสามารถขอคำปรึกษา มาผ่าตัดเปิดแผล หรือคลอดบุตรด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เพื่อช่วยให้มั่นใจว่าหญิงสาวเหล่านี้จะปลอดภัย และไม่ส่งต่อประเพณีที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของสตรีไปยังลูกสาวของพวกเธอ

การต่อต้านการขริบอวัยวะเพศหญิงในลอนดอนด้วยการถักนิตติ้งโดย The Shoreditch Sisters Women’s Institute (Image cr. : newint.org)

อย่างไรก็ตาม ความพยายามต่อต้านการขริบอวัยวะเพศหญิงโดยองค์กรภายนอกใดๆ ย่อมไม่เกิดผล หากผู้หญิงในแต่ละชุมชนยังคงฝังรากความเชื่อที่งมงายนี้เอาไว้ ผู้ที่จะเปลี่ยนแปลงได้ มีแต่หมอพื้นบ้าน ประธานชุมชน และผู้นำทางศาสนาที่ต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า พิธินี้มิได้เป็นสิ่งที่ระบุไว้ในคัมภีร์

อ่านเรื่องราวของหญิงแอฟริกาที่ผ่านประสบการณ์การถูกขริบจากหนังสือเรื่องนี้

  • ทรยศ
    หมดชั่วคราว

    ทรยศ

    Infidel

    365.00 ฿ 328.00 ฿

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/female-genital-mutilation
  • https://en.wikipedia.org/wiki/Female_genital_mutilation

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ คลิกที่นี่

https://www.sanskritbook.com/category/story/

ย้อนรอยเส้นทางอำนาจตระกูลคิม : ตอน 1 คิม อิลซุง

ย้อนรอยเส้นทางอำนาจตระกูลคิม : ตอน 2 คิม จองอิล

ย้อนรอยเส้นทางอำนาจตระกูลคิม : ตอน 3 คิม จองอึน

 

« แมนซานาร์ ฝันร้ายของชาวอเมริกันสายเลือดญี่ปุ่น
ย้อนรอยเส้นทางอำนาจตระกูลคิม : ตอน 3 คิม จองอึน »