ฮัมมัม … ความลับในโรงอาบน้ำ 15 กันยายน 2019 – Posted in: People & Places – Tags: , , ,

การอาบน้ำเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต นับตั้งแต่มนุษย์เริ่มรู้จักกับความสบายที่มาพร้อมกับสายน้ำ การอาบน้ำจึงมีบทบาทสำคัญตั้งแต่การชำระล้างคราบไคลไปจนถึงพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เรียกได้ว่าถ้าจะให้คุยกันถึงเรื่องประเพณีการชำระร่างกายด้วยน้ำคงเล่าสู่กันฟังได้อีกหลายตอนทีเดียว…วันนี้เราประเดิมกันด้วยเรื่องเล่าของ “ฮัมมัม…ความลับในโรงอาบน้ำ”

Photo cr : Amir Ahmad Bath, Kashan, persianlandscape

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ “เตอร์กิช บาร์ธ” หรือโรงอาบน้ำแบบตุรกีมาก่อน สถานที่แบบนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “ฮัมมัม” (Hammam) แปลว่า “ทำให้อุ่นขึ้น” ในขณะที่บ้านเราอาบน้ำเพื่อคลายร้อน แต่ประเทศในแถบอาหรับ ตุรกี ไปจนถึงยุโรปตอนใต้ มีช่วงเวลาที่อากาศหนาวเย็นและมีน้ำอุ่นจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีแห่งการดูแลสุขภาพของชาวกรีกมาแต่โบราณ

ความนิยมของ “ฮัมมัม” แพร่หลายมาตั้งแต่ยุคไบเซนไทน์ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล (ปัจจุบันคืออิสตันบุล ในประเทศตุรกี) กระจายไปในดินแดนใกล้เคียงอย่าง โมร็อคโก อิหร่าน อียิปต์ ไปจนถึงแถบยุโรปตอนใต้ ไม่ว่าจะเป็นโรงอาบน้ำที่หรูหราอลังการ ไปจนถึงโรงอาบน้ำแบบบ้าน ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน สิ่งที่เป็นเสน่ห์สำคัญคือรูปแบบสถาปัตยกรรมที่งดงาม สถานที่ขัดสีฉวีวรรณนี้จะมีคนดูแลให้สะอาดอยู่เสมอ เดิมทีบุรุษเพศเท่านั้นที่มีสิทธิ์เข้ามาใช้บริการ แต่ต่อมาก็เปิดโอกาสให้สตรีอาหรับได้มีโรงอาบน้ำสาธารณะของผู้หญิงต่างหาก

Painting of Hammam from www.eluxemagazine.com

หนึ่งในเครื่องใช้สำคัญที่ฮัมมัมทุกแห่งต้องมีก็คือถังน้ำ ซึ่งถังน้ำแบบอาหรับนี้จะเป็นงานฝีมือประณีตที่ต้องอาศัยเชิงช่าง โดยช่างโลหะจะตอกสลักลวดลายลงไปบนถังน้ำแต่ละใบ เพื่อให้เกิดลายนูน งดงาม ควรค่าแก่การบรรจุน้ำซึ่งใช้กันในพิธีกรรมสำคัญอีกด้วย

ธรรมเนียมการลอยกลีบกุหลาบและกลีบดอกไม้หอมลงในถังน้ำก็เป็นส่วนหนึ่งของการน้ำหอม น้ำปรุง หรือน้ำมันหอมระเหย ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีสปาในปัจจุบัน

Photo cr, : www.visions.az/en

แน่นอนว่า ไม่ว่าจะเป็นโรงอาบน้ำของชายหรือหญิงก็ตาม เมื่อมันได้กลายเป็นสถานที่ที่มีผู้คนมารวมตัวกันแล้ว ที่นั่นจะเริ่มกลายเป็นสมาคม ที่มีเหยี่ยวข่าวคอยโฉบเรื่องชาวบ้านมาแพร่งพรายอยู่เสมอ

“การไปฮัมมัมคือความสุขสบาย เรานอนแช่น้ำ ซุบซิบ และแอบดูเรือนร่างของพวกผู้หญิงโรงอาบน้ำเป็นที่ที่ทำให้เรารู้ความลับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใครเกิด ใครตาย ใครตั้งท้อง หรือเจ้าสาวคนไหนหลับนอนกับสามีเมื่อคืนที่ผ่านมา เพราะเธอต้องทำวาญิบ หรือชำระล้างร่างกายทั้งตัว”

เสี้ยวหนึ่งที่สอดแทรกใน Blood of Flowers หรือ พรมสีเลือด หนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวการทอพรมเปอร์เซียอันล้ำค่าในศตวรรษที่ 17 ผ่านตัวละครสาวทอพรมผู้ต่ำต้อยแต่ฝีมือเจิดจรัสที่พ่อมาตายจากไปในเวลาที่ลูกสาวกำลังถึงวัยจะออกเรือน ทำให้สาวเจ้าต้องหาทางหาสินสอดมาหมั้นหมายชายหนุ่มตามธรรมเนียม การเดินทางเข้ามายังกรุงอิสฟาฮานคือคำตอบในการหาทางเป็นช่างทอพรมหลวง

Photo cr : LUXOS magazine

เรื่องราวเข้มข้นของวิถีชีวิตชาวเปอร์เซียในอดีตที่แพรวพราวด้วยสีสันวัฒนธรรมอาหรับเล่มนี้ ได้บรรจุวิถี “ฮัมมัม” หรือ โรงอาบน้ำสาธารณะในอิหร่านเอาไว้ด้วย โรงอาบน้ำไม่เพียงเป็นที่พบปะสังสรรค์ ต้อนรับแขก หรือประกอบพิธีสำคัญๆ เช่นการอาบน้ำเจ้าสาว หรือการอาบน้ำมารดาหลังคลอดบุตรแล้ว เหล่าแม่ๆ ของหนุ่ม ๆ เปอร์เซียทั้งหลาย มักจะเฟ้นหาเจ้าสาวที่ถูกใจให้แก่ลูกชายจากที่นี่ เพราะเป็นสถานที่ที่สามารถมองเห็นเรือนร่างที่สวยงามและแข็งแรงของหญิงสาวได้

มาวันนี้ โรงอาบน้ำสาธารณะได้กลายร่างเป็นบริการสุดหรูในรูปแบบสปา สะท้อนวัฒนธรรมอันรุ่มรวยของชาวเปอร์เซียในอดีต ที่มีสีสันอีโรติกแพรวพราว

“The Blood of Flowers พรมสีเลือด” ผลงานเล่มแรก ของนักเขียนสายเลือดอิหร่านที่ไปเติบโตในซานฟรานซิสโก อานิตา อามีร์เรซวานี เธอใช้เวลาถึง 9 ปี พาเรานั่งพรมวิเศษอาลีบาบา ตามไปดูการขุดค้นข้อมูลการทอพรม ที่เรียงร้อยวิถีชีวิตหญิงชาวเปอร์เซีย ช่างทอพรมฝีมือเลิศผู้ทำทุกวิถีทางเพื่อพาตัวเองให้หลุดพ้นจากการมีชีวิตดั่งพรมเช็ดเท้า และเมื่อหนังสือเล่มนี้ออกสู่สายตาผู้อ่านก็ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ แล้ว 33 ภาษา

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ คลิกที่นี่

https://www.sanskritbook.com/category/story/

 

« ทาสกาม สงครามโลกครั้งที่ 2
คอร์เนอร์ เกร็นแนน…กับพันธะสัญญาเปลี่ยนชีวิต »