อานิตา อามีร์เรซวานี…9 ปีกับการถักทอ “พรมสีเลือด” 18 สิงหาคม 2019 – Posted in: The Authors – Tags: , ,

“ระยะเวลา 9 ปี ที่ทำงานหนังสือเรื่อง”The Blood of Flowers-พรมสีเลือด”นี้ ผู้เขียนรู้สึกเหมือนอาลีบาบา ในนิทานอาหรับราตรี ซึ่งเปล่งคาถาว่า “จงเปิด เซซาเม!” เพื่อจะได้เห็นถ้ำที่สุกสว่างด้วยประกายแห่งทองคำและอัญมณีล้ำค่า”  นี่คือคำกล่าวของ “อานิตา  อาร์มีเรซวานี (Anita Amirrezvani) เจ้าของผลงานชิ้นเยี่ยมที่สันสกฤตนำมาถ่ายทอดในภาคภาษาไทยอย่างละเมียดละไม โดยวิภาดา  กิตติโกวิท

Photo : Mark Estes (sfgate.com)

อานิตา  อามีร์เรซวานี (Anita  Amirrezvani)

เกิดในกรุงเตะราน ประเทศอิหร่าน เติบโตในซานฟรานซิสโก เป็นหนึ่งในคณะนักวิจารณ์เกี่ยวกับระบำตามหน้าหนังสือพิมพ์ในย่านเบย์แอเรีย เธอได้รับตำแหน่งนักวิจัยจาก National Arts Journalism Program, The NEA Arts Journalism Institute for Dance, and Hedegebrook เธอใช้เวลา 9 ปี ในการเขียนเรื่อง The Blood of Flowers ระหว่างนั้นได้เดินทางไปทำการศึกษาวิจัยที่อิหร่านหลายต่อหลายครั้ง

ระหว่างการค้นคว้า เธอพบตัวเองว่ามักย้อนกลับไปในศตวรรษที่17 อันเป็นยุคสมัยของ พระเจ้าชาห์อับบัส (ค.ศ.1571-1629) ซึ่งเป็นยุคที่สำคัญยิ่ง ด้วยพระองค์มิได้ทรงเป็นเพียงกษัตริย์ผู้เฉียบขาดเท่านั้น หากในระหว่าง 41 ปีที่ทรงครองราชย์ ทรงเป็นนักปกครองที่มีพระปรีชาสามารถและอุทิศตนให้กับการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมอิหร่าน จนได้รับการยกย่องให้เป็น พระเจ้าชาห์อับบัสมหาราชแลหนึ่งในศิลปะที่ทรงส่งเสริมอย่างเต็มที่คือการทอพรม

อานิตาได้ขุดค้นและลงลึกประวัติศาสตร์ของการทอพรมและพบว่า “พรมเปอร์เซีย” คืองานวิจิตรศิลป์อันทรงคุณค่า เป็นที่ต้องตาและน่าปรารถนาอย่างยิ่งสำหรับบรรดากษัตริย์ เหล่าเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง พ่อค้าที่ร่ำรวยในยุโรป ตลอดจนบรรดาศิลปินที่ต่างใฝ่หาพรมเปอร์เซียมาครอบครอง

พระเจ้าชาห์ฯ ทรงตั้งโรงทำพรมขึ้นทั่วประเทศ ผู้ที่ได้รับการฝึกให้เป็นช่างฝีมือชั้นเอกจะสร้างผลงานให้ราชสำนัก แต่สิ่งที่น่าเศร้าคือไม่มีช่างทอพรมคนไหนได้รับการยกย่องชื่นชม หรือมีชื่อปรากฏบนผืนพรมเลย

พระเจ้าชาห์ อับบาสที่ 1 (ภาพ : thereaderwiki.com)

เบื้องหลังการทำงานหลังขดหลังแข็งอย่างยาวนานของช่างทอพรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กกำพร้าที่ถูกบังคับให้มาทำงาน พวกเขาเหล่านั้นต้องปวดร้าวทรมานไปทั้งร่าง บางคนถึงกับพิกลพิการ ไม่สามารถลุกขึ้นเดินด้วยตัวเองได้ ต้องมีคนมาอุ้มไปหลังจากการนั่งทอพรมในแต่ละวัน

อานิตา สร้างตัวละครเอกซึ่งเป็นเด็กสาวยากจนจากบ้านนอกผู้มีฝีมือในการออกแบบลวดลายพรมไม่เหมือนใครและใฝ่ฝันจะเป็นช่างทอพรม ทว่า งานศิลป์นี้ถูกจำกัดไว้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น สาวแรกรุ่นอย่างเธอจึงต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนักเพื่อพาตัวเองไปถึงฝั่งฝันให้ได้

อีกทั้งวัฒนธรรมการแต่งงานในอดีตที่ฝ่ายหญิงต้องเป็นฝ่ายสู่ขอชาย ต้องตระเตรียมสินสอดและเธอต้องมาสูญเสียพ่อผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวไปทำให้เธอกับแม่ต้องเดินทางเข้าไปยังเมืองอิสฟาฮาน เพื่อไปขอพึ่งพาลุง ผู้เป็นช่างทอพรมหลวงผู้โด่งดัง จากนั้นเธอจะพาผู้อ่านไปรู้จักวิถีชีวิตของหญิงสาวผู้หมายมั่นจะเป็นช่างทอพรม ต้องฝ่าด่านประเพณี “ชีเฆห์” ที่ว่าด้วยการเปิดบริสุทธิ์กับการแต่งงานชั่วคราวของเธอกับชายหนุ่มผู้มั่งคั่ง ขนบการเตรียมตัวก่อนคืนสำคัญของหญิงสาวในโรงอาบน้ำ “ฮัมมัม” สถานที่ซึ่งเหล่าแม่สื่อจะทำตัวเป็นแมวมองเชื่อมสะพานให้หนุ่มสาวรวมทั้งกุมความลับของใครๆ

ศิลปะ วัฒนธรรม หลักฐานโบราณคดีต่างๆ ได้ถูกก่อรูปขึ้นเป็นฉากชีวิตและตัวละครที่กระโดดโลดเต้นอย่างมีชีวิตชีวาจะพาผู้อ่านย้อนอดีตอันรุ่มรวยของอิหร่านในศตวรรษที่ 17 ไปแหวกม่านอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกกับหนังสือเล่มนี้

ปัจจุบันอานิตา  อามีร์เรซวานีพำนักอยู่ทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอยังคงหลงใหลการค้นคว้าหลักฐานทางประวัติศาสตร์และยังสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ คลิกที่นี่

https://www.sanskritbook.com/category/story/

 

« ซานติอาโก  รงคากลิโฮโล…หนุ่มละตินโนผู้อยู่เบื้องหลังสุสานกุหลาบ
มารีอา  บีร์คีเนีย ฟารีนังโก…ราชินีอินคา »