เรื่องย่อ
พระราชหัตถเลขาและลายพระหัตถ์กว่า ๓๐๐ ฉบับที่มีไปมาระหว่าง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระราชโอรส
สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๙
จนถึงสิ้นรัชกาลที่ ๕ ใน พ.ศ. ๒๔๕๓ ครอบคลุมช่วงเวลาที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ
ประวัติศาสตร์สยามและรัสเซีย สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทหารที่รัสเซีย
ภายใต้พระอุปถัมภ์ของจักรพรรดินิโคลัสที่ ๒ เป็นเวลานาน ๘ ปี ในระหว่างประทับที่นั่น
เอกสารเหล่านี้มีความน่าสนใจและให้รายละเอียดของสถานศึกษาของพระองค์
ที่โรงเรียนนายร้อยมหาดเล็กหลวง พระบรมวงศานุวงศ์แห่งโรมานอฟ กิจวัตรประจำวัน
เศรษฐกิจและการเมือง บทบาทสยามที่รัสเซียต้องการให้เป็นฐานทางยุทธศาสตร์
ในภูมิภาคตะวันออกเมื่อมกุฎราชกุมารนิโคลัสได้เสด็จมาเยือนสยามใน พ.ศ. ๒๔๓๔
อันเป็นส่วนหนึ่งของการประพาสตะวันออกไกลเพื่อเปิดทางรถไฟทรานส์ไซบีเรีย
ทางฝั่งตะวันออกที่เมืองวลาดิวอสต๊อกใน พ.ศ. ๒๔๓๖ ด้วยการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่
จากรัชกาลที่ ๕ ก่อให้เกิดมิตรภาพที่ยั่งยืนระหว่างสองประเทศ
ซึ่งรัสเซียมีส่วนช่วยป้องกันการรุกรานของฝรั่งเศสในขณะที่พระราชหัตถเลขา
ของรัชกาลที่ ๕ ก็เผยให้เห็นถึงความรักระหว่างพ่อกับลูก เรื่องราวภายในพระราชวงศ์สยาม
การเมืองการปกครองและเรื่องราวเชิงลึกในราชสำนัก ที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน
ยังมีการพบโทรเลขรายงานเหตุการณ์ที่สำคัญ เช่น การปฏิวัติใน พ.ศ. ๒๔๔๘
ที่ให้ข้อมูลอันน่าสนใจและจดหมายไม่กี่ฉบับระหว่างสมเด็จฯ
เจ้าฟ้าจักรพงษ์กับพระคู่รักสาวรัสเซีย เอกาเทรินา เดสนิตสกายาหรือแคทยา
ก่อนที่ทั้งคู่จะไปเสกสมรสกันที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลและได้มาอยู่ร่วมกันในสยาม
|